ปูทะเล

Scylla serrata

ชื่อสามัญภาษาไทย  ปูทะเล

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ  SERRATED MUD CRAB

ชื่อวิทยาศาสตร์   Scylla serrata

วงจรชีวิต

ลักษณะของปูทะเล มีกระดองกลมรีเป็นรูปไข่ สีดำปนแดงหรือสีน้ำตาลแก่ ขอบระหว่างนัยน์ตามีหนาม 4 อัน ส่วนด้านข้างนัยน์ตาแต่ละข้างมีหนามข้างละ 8-9 อัน ก้ามจะมีหนามแหลม ส่วนขาอื่นๆ ไม่มีหนามตัวผู้จะมีก้ามขนาดใหญ่แข็งแรงกว่าตัวเมีย เลือดปูทะเลมีสีฟ้าใส เมื่อถูกความร้อนจะกลายเป็นสีขาวขุ่นคล้ายครีม ปูพวกนี้จะเจริญเติบโตด้วยวิธีการลอกคราบ ตรงขอบหลังของกระดองจะเผยออกให้เห็นกระดองใหม่ยังเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ซึ่งเรียกว่าปูสองกระดอง ถ้าหากเป็นตัวเมียที่มีความสมบูรณ์เพศจะมีไข่อยู่ในกระดอง ซึ่งพบมากในเดือนพฤศจิกายน ปูทะเลนั้นเป็นชื่อที่ใช้เรียกโดยทั่วไป ชื่อภาษาท้องถิ่นเรียกตามลักษณะหรือสีสันที่แตกต่างกันไปเพียงเล็กน้อย เช่น ปูทองโหลง ปูทองหลาง ปูขาว ปูสีน้ำตาล เป็นปูทะเลที่มีกระดองสีหม่นหรือสีเขียว มีจุดดำกระจายอยู่บนกระดองและก้าม ก้ามสีฟ้าแกมขาวเป็นปูที่มีขนาดเล็กอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำลึก ปูพวกนี้จะมีรสหอมหวานไม่เหม็นโคลน ส่วนปูก้ามแดง ปูดำ ปูแดง หรือปูทองแดง เป็นปูทะเลที่มีขนาดใหญ่มีก้ามสีแดง กระดองหนา บางตัวมีตะไคร่และเพรียงจับสีกระดองหม่นเข้มปนสีดำ ปูเหล่านี้มักขุดรูอยู่ในบริเวณน้ำตื้น เนื้อแน่นแต่มีกลิ่นเหม็น ส่วนแม่กระแชงหรือกระแชงนั้นเป็นปูตัวเมียที่มีขนาดใหญ่และมีไข่อยู่ที่จับปิ้ง สำหรับปูกระเทยเป็นหูที่ยังไม่โตเต็มที่ จับปิ้งมีขนาดเล็ก ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย

การสืบพันธุ์

ฤดูกาลวางไข่ผสมพันธุ์ของปูทะเลอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม แม่ปูจะมีไข่ในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม สามารถ วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยจะวางไข่ชุกชุมในระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ไข่ของปูทะเลจะมีสีส้มแดง เมื่อไข่แก่ขึ้นจะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ ซึ่งจะถูกปล่อยออกมานอกกระดองบริเวณใต้จับปิ้ง

ถิ่นอาศัย แหล่งที่พบ

ปูทะเลจะขุดรูอยู่ตามชายทะเลที่เป็นโคลนหรือบริเวณป่าแสม โกงกาง ป่าจากและสามารถอยู่ในรูได้นาน ๆ ในบริเวณที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง พบทั่วไปในบริเวณชายฝั่งทะเลทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน

อาหาร

ปูทะเลกินสัตว์น้ำอื่น ๆ และซากสัตว์

ขนาด

ความยาวประมาณ 15-25 ซ.ม.

บทความล่าสุด

7 ธันวาคม 2023

กั้งตั๊กแตน

22 พฤศจิกายน 2023

ปลากระทิงไฟ