ปลาฉลามเสือ (Tiger shark)

ปลาฉลามเสือ ปลากระดูกอ่อนขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง จำพวกฉลาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Galeocerdo cuvier ในวงศ์ Carcharhinidae เป็นปลาเพียงชนิดเดียวในสกุล Galeocerdo ที่ยังสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ปลาฉลามเสือได้ชื่อว่าเป็นปลาที่กินไม่เลือกเหมือนเช่นปลาฉลามขาวเพราะมักเจอสิ่งที่ไม่ใช่อาหารในกระเพาะเสมอ ๆ เช่น ยางรถยนต์, กระป๋องน้ำ, เศษไม้ หรือ พลาสติก ซึ่งล้วนแต่เป็นขยะที่มนุษย์โยนทิ้งลงทะเลทั้งสิ้น

ที่มา : http://sutasinee062.blogspot.com/2017/12/tiger-shark.html

ลักษณะ

มีรูปร่างอ้วนป้อม ปากกว้าง ปลายปากสั้นและทู่ ลำตัวเรียวไปทางปลายหาง คอดหางมีสันชัดเจน ครีบหางเรียวและมีปลายแหลม มีฟันใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยม มีขอบหยักเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย พื้นลำตัวและครีบสีน้ำตาลหม่น มีลายพาดขวางตลอดข้างหลังและหางคล้ายลายของเสือโคร่ง จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก ซึ่งลายนี้อาจแตกเป็นจุดกระจายอยู่ทั่วไปหรือจางหมดไปเมื่อโตขึ้น ท้องมีสีจาง

ปลาฉลามเสือเมื่อโตเต็มที่มีขนาดประมาณ 5 เมตร แต่ตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือ 7 เมตร น้ำหนักหนักที่สุดคือ 807.4 กิโลกรัม พบกระจายว่ายหากินอยู่ทั่วไปในน่านน้ำเขตอบอุ่นทั่วโลก มีพฤติกรรมชอบหากินตามแนวปะการังหรือบริเวณใกล้ชายฝั่ง หรือบริเวณปากแม่น้ำ โดยอาศัยตั้งแต่ระดับผิวน้ำจนถึงความลึก 140 เมตร ปกติมักอยู่ลำพังเพียงตัวเดียวและหากินในเวลากลางคืน ว่ายน้ำได้คล่องแคล่วว่องไวมาก มีอาณาเขตในการหากินกว้าง 100 ตารางกิโลเมตร โดยที่อาหารได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เช่น เต่าทะเล รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในทะเล เช่น แมวน้ำ หรือ สิงโตทะเล ด้วย

การแพร่พันธุ์

          ปลาฉลามเสือ เป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว ในระยะเวลาตั้งท้องนานเกือบหนึ่งปี สามารถตกลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉลี่ยจะตกลูกครั้งละ 10-82 ตัว ลูกปลาแรกเกิดมีความยาวประมาณ 51.76 เซนติเมตร เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 4-6 ปี อายุขัยโดยเฉลี่ย 12 ปี แต่อายุในสถานที่เลี้ยงมักจะมีอายุเพียงสั้น ๆ ไม่เกิน 2 เดือนเท่านั้น

พฤติกรรม

          ปลาฉลามเสือ นับได้ว่าเป็นปลาฉลามอีกชนิดหนึ่งที่มีอันตรายต่อมนุษย์ เพราะมีนิสัยดุร้ายและมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เลือก ในพื้นที่ทะเลของไทยนับได้ว่าเป็นปลาฉลามที่อาจทำร้ายมนุษย์หรือนักดำน้ำได้ร่วมกับ ปลาฉลามหัวบาตรและปลาฉลามครีบดำโดยสถานที่ ๆ มีรายงานปลาฉลามเสือทำร้ายนักดำน้ำหรือนักโต้คลื่นมากที่สุด คือ ฮาวาย เชื่อว่าเกิดจากเหตุที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว จึงทำให้ปลาฉลามเสือเห็นกระดานโต้คลื่นผิดไปเป็นแมวน้ำซึ่งเป็นอาหารประกอบกับการที่มีเต่าทะเลซึ่งเป็นอาหารอีกอย่างหนึ่งกระจายพันธุ์สูงด้วย

ถิ่นอาศัย

          บ่อยครั้งที่สามารถพบปลาฉลามเสือใกล้กับชายหาดทั้งในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก มีพฤติกรรมเร่ร่อนโดยใช้กระแสน้ำอุ่นนำทาง ชอบอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรในช่วงฤดูหนาว มักอาศัยในน้ำลึกตามแนวปะการัง แต่ก็สามารถเคลื่อนไหวในร่องน้ำตื้นเพื่อไล่ตามเหยื่อได้ ในทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ปลาฉลามเสือสามารถพบไกลถึงประเทศญี่ปุ่นในทางเหนือและประเทศนิวซีแลนด์ในทางใต้ นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในทะเลแคริบเบียน, แอฟริกา, ประเทศจีน, เขตบริหารพิเศษฮ่องกง, ประเทศอินเดีย, ประเทศออสเตรเลีย, และประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงอ่าวเม็กซิโก, ชายหาดของอเมริกาเหนือ,และบางส่วนของอเมริกาใต้

อ้างอิง

http://sutasinee062.blogspot.com/2017/12/tiger-shark.html

https://web.facebook.com/shark.knowledge/posts/173769119829057/?_rdc=1&_rdrhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD

บทความล่าสุด

7 ธันวาคม 2023

กั้งตั๊กแตน

22 พฤศจิกายน 2023

ปลากระทิงไฟ