ปัจจัยของการเกิดโรคสำหรับปลา โดยสาเหตุทั้ง 3 ประการ ไม่ว่าจะเป็นจากตัวปลา เชื้อโรค และสิ่งแวดล้อม หากมีสภาพที่เอื้อต่อกันแล้ว ปัญหาเรื่องโรคซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้เลี้ยงจะเกิดขึ้น จากสาเหตุทั้ง 3 ประการ ผู้เลี้ยงควรเอาใจใส่และพยายามตัดปัญหาให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นการเลือกสรรปลาที่แข็งแรงปลอดเชื้อโรค วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ต้องมั่นใจว่าสะอาด หลีกเลี่ยงการเลี้ยงปลาตัวใหม่จนกว่ามีการพักให้แน่ใจว่าปลอดจากโรคติดต่อ จากนั้นประเด็นสำคัญคือ การจัดการสภาพแวดล้อมให้มีสภาวะเหมาะสมตลอดการเลี้ยง เช่นไม่มีการหมักหมมจากของเสีย คุณภาพน้ำ (pH, อุณหภูมิ, ความเค็ม, แอมโมเนีย, ไนไตรท์ ฯลฯ) อยู่ในเกณฑ์ที่ดีไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก หากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้ปลาเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันอาจต่ำลงจนส่งผลให้เกิดการติดต่อของโรคได้
            โรคติดต่อที่เกิดขึ้นกับปลาทะเลสวยงามที่เลี้ยง หากปล่อยให้ปลาเหล่านั้นติดเชื้อหรือเป็นโรคแล้ว การรักษาจะทำให้เปอร์เซ็นต์การรอดหรือหายจากการติดเชื้อโรคได้น้อยมาก ดังนั้นการควบคุมโรคติดต่อควรใส่ใจด้านการป้องกันและจัดการสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดี ก่อนที่จะเกิดผลเสียตามมา การรักษาโรคทุกชนิดควรทำตามแบบแผนเดียวกันคือ การแยกปลาออกรักษานอกตู้เลี้ยง จำเป็นต้องติดตั้งฮีตเตอร์ให้อุณหภูมิคงที่ประมาณ 29 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งวัน จากนั้นใช้สารเคมีให้ตรงกับการวินิจฉัยโรค หากมีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำทางกายภาพ เช่น น้ำขุ่น มีตะกอน ฯลฯ ควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำ แต่น้ำที่นำมาเปลี่ยนถ่ายต้องมีคุณภาพน้ำและอุณหภูมิใกล้เคียงน้ำที่รักษาอยู่เดิม

โรค Amyloodinium หรือโรคจุดสนิม

                 เป็นโรคที่เกิดจากปรสิตกลุ่ม Dinoflagellate ชื่อว่า Amyloodinium ocellatum รูปร่างทรงกลม เกาะติดอยู่ภายนอกลำตัว ครีบ เหงือก มีน้ำตาล สังเกตค่อนข้างยาก ขนาดประมาณ 80 ไมครอน มักเกิดในปลาที่มีขนาดเล็ก หรือการติดเชื้อในโรงเพาะฟัก พบมากในการอนุบาลปลาการ์ตูน ลักษณะปลาจะว่ายกระสับกระส่าย เอาลำตัวถูหินหรือวัสดุใต้น้ำ หายใจถี่ผิดปกติ


Figure 1: https://www.nano-reef.com/forums/topic/269379-whats-on-my-clownfish/

โรคจุดขาว

             เป็นโรคที่เกิดจาก โปรโตซัวกลุ่ม Ciliate protozoan ชื่อว่า Cryptocaryon irritans ลักษณะคล้ายก้อนกลมสีขาว ฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อชั้นแรกของลำตัว และเหงือก ดูคล้ายกับการปะแป้ง ปลาจะมีอาการว่ายทุรนทุราย หายใจถี่ เอาลำตัวถูหิน สามารถเกิดได้กับปลาทุกชนิด ไม่ควรนำใช้ผ้าเช็ดตัวปลา แม้ว่าจะทำให้จุดขาวดังกล่าวหลุดออก แต่กลับจะสร้างรูบาดแผลและรอยถลอกบนชั้นผิวด้านนอก ทำให้มีการติดเชื้อซ้ำซ้อนและตายได้ การรักษาควรแยกออกรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลามไปสู่ตัวอื่น


Figure 2: https://www.reef2reef.com/ams/copper-treatment-for-marine-ich.159/

โรคติดเชื้อแบคทีเรีย

                 โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด มีลักษณะแสดงอาการได้หลายรูปแบบ เช่น ท้องบวม ตาบวม ปากบวม เกล็ดตั้ง เกล็ดช้ำ ครีบกร่อน เหงือกกร่อน ขี้ขาวไม่ขาดจากช่องทวาร หายใจถี่ ลำตัวซีด เป็นแผล ผุพองเป็นหนองหรือฝี อาการเหล่านี้จะแสดงออกมาเมื่อปลาติดเชื้อขั้นสุดท้ายแล้วการรักษาจึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร สารเคมีที่ใช้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ยาฆ่าเชื้อ1และยาปฏิชีวนะ2 โดยยาฆ่าเชื้อนิยมละลายน้ำเพื่อลดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในมวลน้ำ ส่วนยาปฏิชีวนะสำหรับปลากินและต้องกินอย่างต่อเนื่อง จึงมีผลยับยั้งและฆ่าเชื้อโรค


Figure 3:  Collare butterflyfish

โรคเมือกขุ่น หรือ Brooklynella

                 โรคเมือกขุ่นเกิดจากโปรโตซัวกลุ่ม Ciliate protozoa ชื่อว่า Brooklynella hostilis  ปลาที่ติดเชื้อมีลักษณะมีเมือกสีขาว คลุมบริเวณลำตัว ด้านหน้า ลูกตา ครีบ บางครั้งพบว่าลอกออกเป็นแผ่นขาวแต่อีกส่วนหนึ่งยังติดอยู่ที่ลำตัวปลา ปลาจะมีอาการซึม โรคนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 วันหากติดเชื้อและไม่มีการรักษา เมื่อปลาติดเชื้ออย่างรุนแรงจะว่ายทุรนทุราย ไม่เป็นปกติ จนกระทั่งตายลง การรักษาใช้ฟอร์มาลีนความเข้มข้น 20 mg/l รวมกับ เมทีลีนบูล 10 mg/l เปลี่ยนถ่ายน้ำน้ำมีลักษณะขุ่น เป็นระยะเวลา 15 วัน


Figure 4: https://www.reef2reef.com/threads/brooklynella.247938/

เอกสารอ้างอิง
http://www.fish.ku.ac.th/Download/55_RT-Beginer-ReefaquariumBy-Sahapop.pdf


เรียบเรียงโดย นางสาวปิยรัตน์ คุ้มรักษา ตำแหน่ง นายสัตวแพทย์

บทความล่าสุด

22 กุมภาพันธ์ 2024

ปลาเสือเยอรมัน

14 กุมภาพันธ์ 2024

กุ้งมังกรหัวเขียว

6 กุมภาพันธ์ 2024

กระเบนหางขาว