ชีววิทยา

ลักษณะของปูดำ มีกระดองกลมรีเป็นรูปไข่ สีดำปนแดงหรือสีน้ำตาลแก่ ขอบระหว่างนัยน์ตามีหนาม 4 อัน ส่วนด้านข้างนัยน์ตาแต่ละข้างมีหนามข้างละ 8-9 อัน ก้ามจะมีหนามแหลม ส่วนขาอื่นๆ ไม่มีหนามตัวผู้จะมีก้ามขนาดใหญ่แข็งแรงกว่าตัวเมีย ปูดำมีขา 5 คู่ ขาคู่แรกอยู่หน้าสุดมีขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษเรียกว่า “ก้ามปู” ปลายก้ามปูแยกออกเป็น 2 ง่ามมีลักษณะคล้ายคีมใช้จับเหยื่อกินและป้องกันตัว ปลายสุดของขาคู่ที่ 2-4 มีลักษณะแหลมเรียกว่า “ขาเดิน” เพราะทำหน้าที่ในการเดินเคลื่อนที่ ส่วนขาคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นคู่สุดท้ายเรียกว่า “ขาว่ายน้ำ” ตอนปลายสุดของขาคู่นี้มีลักษณะแบนคล้ายใบพาย ซึ่งธรรมชาติสร้างมาให้เพื่อความสะดวกในการว่ายน้ำ

ปูดำมีเลือดสีฟ้าใสๆ มีสารประกอบพวกทองแดงปนอยู่ในเลือก เมื่อได้รับบาดเจ็บ เช่น กระดองแตก หรือก้ามหลุด เลือดใสๆจะไหลออกมามีลักษณะข้นๆ เมื่อโดนความร้อนจะกลายเป็นสีขาวขุ่นคล้ายครีม สำหรับอวัยวะภายในทั้งหมด ได้แก่ หัวใจ กระเพาะอาหาร ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ จะรวมกันอยู่ภายในกระดอง

วงจรชีวิต

ปูดำเป็นสัตว์น้ำกร่อยประเภทหนึ่งที่มีการอพยพ ย้ายถิ่นเพื่อการแพร่พันธุ์ โดยปูเพศเมียจะอพยพจากแหล่งหากินในบริเวณเขตน้ำกร่อย ออกไปวางไข่ในทะเล ซึ่งจากการอพยพนี้จะมีขึ้นภายหลังจากที่ได้ผ่านการจับคู่ผสมพันธุ์แล้ว และในขณะที่กำลังเดินทางสู่ทะเล ปูบางตัวอาจจะปล่อยไข่ออกมาไว้ที่ส่วนท้อง

ลูกปูวัยอ่อนมีอยู่ 2 ระยะได้แก่ ระยะ Zoea 1-5 และ Megalopa 1 ระยะ ในระยะ Zoea   เป็นระยะที่ระยางค์ว่ายน้ำยังไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ จึงล่องลอยหากินไปตามกระแสน้ำ เมื่อเข้าระยะ Megalopa จะมีการว่ายน้ำสลับกับการหยุดเกาะอยู่กับที่เป็นครั้งคราว ซึ่งถือได้ว่าระยะนี้เริ่มมีการแพร่กระจายเข้ามาหากินในบริเวณน้ำกร่อย เมื่อลูกปูลอกคราบจากระยะ Megalopa เป็นตัวปูที่มีลักษณะเหมือนพ่อแม่ทุกประการ จะท่องเที่ยวหากินอยู่ในแหล่งน้ำกร่อยได้อย่างอิสระ หลังจากนั้นปูเพศเมียที่สมบูรณ์เพศและผ่านการจับคู่ผสมพันธุ์แล้ว จะอพยพออกไปวางไข่เช่นเดียวกับแม่ของมัน เป็นวัฎจักรเช่นนี้สืบไป

การสืบพันธุ์

ฤดูกาลวางไข่ผสมพันธุ์ของปูทะเลอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม แม่ปูจะมีไข่ในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม สามารถ วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยจะวางไข่ชุกชุมในระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ไข่ของปูทะเลจะมีสีส้มแดง เมื่อไข่แก่ขึ้นจะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ ซึ่งจะถูกปล่อยออกมานอกกระดองบริเวณใต้จับปิ้ง

อาหาร

ปูทะเลเป็นสัตว์ออกหากินในเวลากลางคืนโดยออกจากที่หลบซ่อน หลังจากดวงอาทิตย์ตกไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง ละเข้าที่หลบซ่อนก่อนหน้าดวงอาทิตย์ขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือหลังจากนั้นประมาณ 30 นาที สำหรับอาหารที่ตรวจพบในกระเพาะอาหารของปูทะเล ได้แก่ หอยฝาเดียว หอยสองฝา กุ้ง ปู ปลา และเศษพืช ซึ่งปูจะชอบกินปูด้วยกันเองมากที่สุด

แหล่งที่อยู่อาศัย

ปูทะเลพบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำกร่อย ป่าชายเลน และปากแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง โดยขุดรูอยู่ตามใต้รากไม้หรือเนินดินบริเวณชายฝั่งทะเลทั้งฝ่ายอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะที่ชุกชุมในบริเวณที่เป็นหาดโคลน หรือเลนที่มีป่าแสม และโกงกาง

เอกสารอ้างอิง

(1) https://sites.google.com/site/pukabpachaylenthismuthrsakhr/laksna-pu-ni-pa-chay-
len/pu-thale

(2) http://www.coastalaqua.com/oldweb/index.php?option=com_content&task=view&
id=99&Itemid=1

(3) http://www.eto.ku.ac.th/neweto/e-book/fish/pootale.pdf

(4) http://www.chumphon.mju.ac.th/goverment/20111119104834_chumphon2/File201
30320101717_24453.pdf

(5) http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view2.aspx?id=8572