ชื่อไทย: ปลาการ์ตูนและดอกไม้ทะเล
วงศ์: Amphiprioninae
ชื่ออังกฤษ: Clownfish, Anemonefish
ชีววิทยา
ปลาการ์ตูนมีลำตัวรูปทรงไข่ (Oval Shape) มีรูปร่างแบนข้าง (compress) หัวค่อนข้างกว้าง โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก ลูกตากลมโต เเละโปนเล็กน้อย ส่วนปากอยู่ปลายสุดของจะงอยปากเฉียงขึ้นเล็กน้อย มีฟันแหลมคม ครีบทุกครีบมีลักษณะกลม ทำให้ว่ายน้ำได้ช้า ครีบที่เป็นครีบคู่ (Pair Fins) ได้แก่ ครีบอก (pectoral fin) และครีบท้อง (pelvic fin) เพื่อใช้ในการทรงตัว บังคับทิศทาง และว่ายถอยหลัง ครีบเดี่ยว (Median Fins) ได้แก่ ครีบหลัง และครีบก้น โดยครีบหลังประกอบด้วยส่วนก้านครีบแข็ง (Dorsal Spines) และก้านครีบอ่อน (Fin Rays) เป็นโครงร่างค้ำจุน บางชนิดครีบหลังเว้าลงตรงกลางทำให้คล้ายถูกแบ่งออกเป็น 2 ตอน บางชนิดครีบหลังยาวตลอดจนถึงคอดหาง โดยแบ่งครีบหลังเป็น 2 รูปแบบ คือ ครีบหลังเดี่ยว เช่น ปลาการ์ตูนในกลุ่มปลาการ์ตูนมะเขือเทศ (Tomato Complex) ส่วนครีบหลังสองตอน เช่น กลุ่มปลาการ์ตูนส้มขาว (Percula Complex) ปลาการ์ตูนใช้ครีบเดี่ยวในการทรงตัว และว่ายตรง ส่วนครีบหางในปลาชนิดอื่นจะใช้ในการว่ายไปด้านหน้า ซึ่งครีบหางเป็นทรงกลมจะทำให้ไม่สามารถใช้เพิ่มความเร็วเพื่อว่ายพุ่งไปด้านหน้าได้ ทำให้ปลาการ์ตูนใช้ครีบเดี่ยว และครีบอกในการเคลื่อนที่ ลำตัวของปลาการ์ตูนปกคลุมด้วยเกล็ด ทำหน้าที่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บ และติดเชื้อ บนเกล็ดจะมีชั้นเมือกปกคลุมที่ช่วยในการว่ายน้ำ ป้องกันการติดเชื้อ และยังช่วยป้องกันเข็มพิษจากดอกไม้ทะเล
วงจรชีวิต
ในทะเลจะปลาการ์ตูนอาศัยอยู่กันเป็นคู่บริเวณดอกไม้ทะเลเป็นหลัก โดยในดอกไม้ทะเลหนึ่งดอกจะมีคู่ปลาการ์ตูนเพศผู้ เพศเมีย 1 คู่ และมีปลาการ์ตูนขนาดเล็กอาศัยร่วมด้วยประมาณ 1-4 ตัว ลูกปลาการ์ตูน มักฟักออกจากไข่ในช่วงกลางคืน ลูกปลาที่ฟักออกใหม่จะมีขนาดประมาณ 2 มม. ลำตัวมีลักษณะโปร่งแสง และชอบว่ายขึ้นผิวน้ำในวันที่มีแสงจันทร์ หลังจากนั้น 7-21 วัน จะเจริญเติบโตเข้าสู่ระยะลูกปลา ขนาดตัว 10-12 มม. ในระยะนี้ลูกปลาจะว่ายลงพื้นท้องทะเลเพื่อหาแหล่งอาศัยที่เป็นดอกไม้ทะเล กลุ่มดอกไม้ทะเลที่มีปลาการ์ตูนตัวอื่นอาศัยอยู่แล้ว ในระยะลูกปลามักจะถูกไล่กัดจากปลาการ์ตูนเจ้าบ้านจนต้องออกหาแหล่งดอกไม้ ทะเลอื่น แต่หากเกิดการยอมรับก็จะสามารถอยู่ร่วมอาศัยได้ เมื่อลูกปลา มีอายุ 1 เดือน ขนาดประมาณ 4 ซม. ซึ่งเป็นระยะที่มีลักษณะเหมือนพ่อ และแม่ปลาทุกประการ แต่ยังเป็นทั้งเพศผู้ และเพศเมียที่ยังแยกเพศยังไม่ได้ จนถึงอายุประมาณ 4 เดือน จึงจะสามารถแยกเพศได้
ความสัมพันธ์กับดอกไม้ทะเล
ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่มีลักษณะเฉพาะ คือ จะอาศัยอยู่ภายในดอกไม้ทะเลซึ่งมีเข็มพิษ แต่ไม่เป็นอันตรายกับปลาการ์ตูน เพื่อป้องกันตัว เป็นพฤติกรรมที่สัตว์ทั้งสองพึ่งพากัน ดอกไม้ทะเลมีหนวดยาวมากมายพลิ้วไหวไปตามกระแสน้ำ ส่วนร่างยึดติดกับโขดหินหรือปะการังเอาไว้ หนวดที่อ่อนนุ่มเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้หาอาหาร บริเวณปลายหนวดเต็มไปด้วยเข็มพิษจำนวนมหาศาล เมื่อมีปลาว่ายหลงผ่านมา ดอกไม้ทะเลจะใช้หนวดพิษทิ่มแทงเหยื่อให้เป็นอัมพาต แล้วใช้หนวดจับเข้าปาก จึงไม่มีปลาอื่นกล้าว่ายเข้าใกล้ดอกไม้ทะเล ยกเว้นเพียงปลาการ์ตูน ที่เที่ยวว่ายหากินสาหร่ายเล็ก ๆ อยู่รอบ ๆ ครั้นมีศัตรูมารบกวน มันจะรีบว่ายเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในกอดอกไม้ทะเล
นอกจากนี้แล้ว จากการศึกษาล่าสุดพบว่า ในเวลากลางคืนที่ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดน้อยลง ปลาการ์ตูนจะโบกครีบไปมาเพื่อให้เกิดกระแสน้ำไหลผ่านดอกไม้ทะเลเพื่อให้ออกซิเจนอีกด้วย
อันที่จริงแล้วปลาการ์ตูนก็ได้รับพิษเช่นกัน แต่รู้จักปรับตัวโดยใช้วิธีว่ายเข้าไปสัมผัสกับดอกไม้ทะเลทีละน้อย ๆ แล้วถอยออกมา ทำอยู่จนกระทั่งร่างกายสร้างเมือกขึ้นมาปกคลุมตัว ช่วยป้องกันเข็มพิษดอกไม้ทะเลได้ใน
ที่สุด แต่ถ้าปลาการ์ตูนปราศจากเมือกอันนี้เมื่อใด ปลาก็จะถูกเข็มพิษของดอกไม้ทะเลทำร้าย จนตายในที่สุด
การสืบพันธุ์
ปลาการ์ตูนสามารถวางไข่ได้ประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 500-1,000 ฟอง ขึ้นกับขนาดและความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์ ใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน ไข่พร้อมที่จะฟักเป็นตัว สังเกตได้จากตาของตัวอ่อนในไข่มีสีเงินวาว ลูกปลาจะฟักออกจากไข่ในเวลากลางคืน
อาหาร
กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร
แหล่งที่อยู่
พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทั่วโลก อาศัยอยู่ตามแนวปะการังกับดอกไม้ทะเล