ปลากระเบนราหูน้ำจืด (Giant freshwater whipray)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Himantura polylepis ซึ่งจำแนกโดยปีเตอร์ เบลเกอร์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1852 แต่ปลาตัวนี้ได้ถูกจำแนกให้ใช้ชื่อ Himantura chaophraya โดย ศ.ดร.สุภาพ มงคลประสิทธิ์ ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.ไทสัน โรเบิร์ตส์ แห่งสถาบันกองทุนสัตว์ป่าโลก ในปี ค.ศ. 1990 แต่ข้อมูลบางแหล่งแจ้งว่าปลากระเบนราหู Himantura polylepis อาจจะเป็นคนละชนิดกับ Himantura chaophraya

ปลาชนิดนี้ได้ถูกเพิ่มชื่อเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 4 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2561

โดยใช้ชื่อว่าปลากระเบนราหูน้ำจืด หรือปลากระเบนเจ้าพระยาใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Himantura chaophraya

รูปที่1. ปลากระเบนราหูน้ำจืด

ที่มาภาพ  https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/b/bd/Trygon_fluviatilis_by_annandale.jpg

ปลากระเบนราหูน้ำจืดเป็นปลากระเบนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกโดยมีน้ำหนักถึง 600 กิโลกรัมและลำตัวกว้างประมาณ 2.5 – 3 เมตร ใหญ่รองลงมาจากปลากระเบนแมนต้าและยังถือได้ว่าติดลำดับปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในกลุ่มนี้มีปลาช่อนอเมซอน ปลาบึก ปลาเวลส์แคทฟิช และปลากระโห้

ปลากระเบนราหูน้ำจืดมีรูปร่างลำตัวทรงใบโพธิ์มีหางยาวที่โคนหางมีเงี่ยง 2 อัน ภายในเงี่ยงมีสารพิษกลุ่มโปรตีน หากถูกเงี่ยงปลาตำจะทำให้เจ็บปวดมากจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ด้านหลังของปลามีสีน้ำตาลเทา ส่วนด้านท้องเป็นสีขาวด้านขอบตัวเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีหางสีน้ำตาลเข้ม ปลากระเบนราหูน้ำจืดกินปลาขนาดเล็ก และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังพวกกุ้งปูและหอยเป็นอาหาร พบปลากระเบนชนิดนี้แพร่กระจายในแม่น้ำในภาคกลางของประเทศไทย และยังพบที่แม่น้ำโขงเกาะบอร์เนียวและที่นิวกินีอีกด้วย

ปลากระเบนราหูน้ำจืดออกลูกเป็นตัว (viviparous) โดยออกลูกครั้งละ 2- 3 ตัวโดยลูกที่คลอดออกมามีความยาวประมาณ 50เซนติเมตร

สถานภาพของปลากระเบนราหูน้ำจืดอยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์

รูปที่2. ปลากระเบนราหูน้ำจืดในที่เลี้ยง
ที่มาภาพ https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/16/Himantura_chaophraya_%28Monkolprasit_%26_Roberts%2C_1990%29.jpg

บรรณานุกรม
https://th.wikipedia.org/wiki/ปลากระเบนราหูน้ำจืด
https://en.wikipedia.org/wiki/Giant_freshwater_stingray
https://en.wikipedia.org/wiki/Viviparity
https://board.postjung.com/671439.html

บทความล่าสุด

7 ธันวาคม 2023

กั้งตั๊กแตน

22 พฤศจิกายน 2023

ปลากระทิงไฟ