ชีววิทยา
ปลาก้างพระร่วง (อังกฤษ: glass catfish, ghost catfish, phantom catfish, Thai glass catfish) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในสกุล Kryptopterus แต่อนุกรมวิธานของปลาชนิดนี้เป็นที่สับสนกันมานานและเพิ่งได้รับการจำแนกอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. ชื่อชนิด vitreolus แผลงมาจากคำคุณศัพท์ VITREVS ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่า “ที่ใสหรือมีคุณสมบัติอย่างแก้ว” ส่วนชื่อสามัญในภาษาไทยมีที่มาจากนิทานพื้นบ้านภาคกลางที่เล่าต่อกันมาว่า พระร่วงได้เสวยปลาชนิดนี้จนเหลือแต่ก้าง จึงทิ้งลงน้ำและกล่าววาจาสิทธิ์ว่าขอให้ปลาตัวนี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา ปลาตัวดังกล่าวก็กลับมีชีวิตขึ้นใหม่จริง ๆ จึงได้ชื่อว่า “ก้างพระร่วง” นับแต่นั้น นอกจากชื่อปลาก้างพระร่วงแล้ว ยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่น ๆ อีก เช่น “ปลาผี”, “ปลาก้าง”, “ปลากระจก”, “ปลาเพียว” เป็นต้น
ปลาก้างพระร่วง มีหนวดคู่ 2 คู่อยู่ที่ขากรรไกรบนและล่าง โดยหนวดคู่บนจะยาวกว่าคู่ล่างมาก ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นมากจนแทบมองไม่เห็น ครีบทวารเป็นแนวยาวจรดโคนหาง หางมีลักษณะเว้าลึก มีลักษณะลำตัวเพรียวยาวและแบนข้างมาก ความยาวทั้งหมดโดยปกติอยู่ที่ราว 6.5 ซม. (2.6 นิ้ว) แต่อาจพบยาวได้ถึง 8 ซม. (3.1 นิ้ว) ลำตัวโปร่งใส จนสามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจน อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ปลาที่ตัวใสที่สุดในโลก” ก็ว่าได้ ทั้งนี้เนื่องจากปลาก้างพระร่วงเป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด และไม่มีเม็ดสีในร่างกาย อวัยวะส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับหัว หากส่องด้วยแว่นขยายจะมองเห็นหัวใจปลาเต้นได้ และถ้ามีแสงกระทบในมุมที่ถูกต้องก็จะเห็นตัวปลาเป็นสีเหลือบรุ้ง

วงจรชีวิต
ปลาก้างพระร่วงมีอุปนิสัยอาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่จำนวน 100 ตัวขึ้นไป ชอบเกาะกลุ่มในแหล่งน้ำไหล โดยจะลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ และหันหน้าสู้กระแสน้ำไปในทิศทางเดียวกันหมด เป็นปลาขี้ตื่นตกใจมาก เมื่อตกใจจะว่ายกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง จากนั้นก็จะกลับมาเกาะกลุ่มตามเดิม ลักษณะลูกปลาเมื่อฟักออกจากไข่จะมีลักษณะเดียวกันจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย
การสืบพันธุ์
ปลาก้างพระร่วงสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยในธรรมชาติจะวางไข่ประมาณเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน
อาหาร
ปลาก้างพระร่วง เป็นปลากินเนื้อขนาดเล็ก ออกหากินในเวลากลางคืน มีอาหารสำคัญ ได้แก่ แมลง ไรน้ำ ลูกน้ำ ลูกกุ้ง และลูกปลาขนาดเล็ก หนอน ไส้เดือน รวมถึงแพลงก์ตอนสัตว์ต่างๆ
แหล่งที่อยู่อาศัย
ปลาก้างพระร่วงเป็นปลาประจำถิ่นของไทย อาศัยอยู่ตามแม่น้ำลำธารที่มีกระแสน้ำไหลแรงในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศ ปัจจุบันพบมากที่สุดตามลำน้ำทางตอนใต้ของคอคอดกระที่ไหลลงสู่อ่าวไทยและตามลำน้ำแถบทิวเขาบรรทัดในภาคตะวันออกนอกจากนี้ยังมีรายงานการพบเห็นที่รัฐปีนังของมาเลเซียด้วย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันทั้งนี้ ปลาที่พบในแม่น้ำลำคลองจะมีลำตัวสีขุ่นกว่าปลาที่พบในแหล่งน้ำบริเวณเชิงเขา เชื่อว่าเป็นเพราะปลาต้องปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเพื่อหลีกเลี่ยงศัตรู
เอกสารอ้างอิง
(1) ธวัช ดอนสกุล, การศึกษาโครโมโซมของปลาเค้าดำ ปลาเค้าขาว-ปลาคางเบือน และปลาก้างพระร่วง ที่พบในประเทศไทย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
(2) th.wikipedia.org, ปลาก้างพระร่วง, ออนไลน์, เข้าถึงได้ที่ : https://th.wikipedia.org/wiki/ปลาก้างพระร่วง/.
(3) http://pasusat.com/ปลาก้างพระร่วง-ประโยชน์

บทความล่าสุด

22 กุมภาพันธ์ 2024

ปลาเสือเยอรมัน

14 กุมภาพันธ์ 2024

กุ้งมังกรหัวเขียว

6 กุมภาพันธ์ 2024

กระเบนหางขาว