ต้นไม้คืออาวุธที่ดีที่สุดในการต่อกรภาวะโลกร้อน ทำหน้าที่เป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่ดูดซับมลพิษทางอากาศให้กับมนุษย์ แต่นอกจากต้นไม้แล้ว มีรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ในหัวข้อ Nature’s Solution to Climate Change ระบุว่า ‘วาฬ’ หรือที่นิยมเรียกว่าวาฬ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในมหาสมุทร คือพระเอกอีกคนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยกู้วิกฤตภาวะโลกร้อน เพราะจากการวิจัยพบว่า ตลอดชีวิตของวาฬหนึ่งตัวสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 33 ตัน และเมื่อวาฬตาย ร่างของมันจะจมลงสู่ทะเลลึก พร้อมคาร์บอนไดออกไซด์ที่เก็บไว้ในตัว ในขณะที่ต้นไม้หนึ่งต้น สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 48 ปอนด์หรือราว 21.8 กิโลกรัมต่อปี หากต้นไม้มีชีวิตอยู่ถึง 100 ปี สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.4 ตัน ซึ่งยังคงเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าความสามารถของวาฬ

          นอกจากนี้ วาฬ ยังเป็นสิ่งมีชีวิตสารพัดประโยชน์ต่อโลก เพราะมูลของวาฬที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กยังเป็นปุ๋ยชั้นดีให้แก่พืชในท้องทะเล และเป็นอาหารให้ไฟโทแพลงก์ตอน (Phytoplankton) หรือแพลงก์ตอนพืช ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมาก ในฐานะผู้ผลิตปฐมภูมิของห่วงโซ่และผู้ผลิตออกซิเจนมากถึงร้อยละ 50–80 ในชั้นบรรยากาศโลก และแพลงก์ตอนในมหาสมุทรยังสามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างน้อย 37,000 ล้านตันต่อปี หรือมากกว่าป่าอเมซอนถึง 4 เท่า

ที่มาภาพ : https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1099858

          แม้ว่าวาฬจะเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่เราอาจจะพบเห็นได้ยากก็ตาม แต่ในประเทศก็มักจะมีวาฬแวะเวียนมาอยู่อาศัยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะวาฬบรูด้าที่พบเห็นได้ทั้งทางทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งวาฬ บรูด้าก็ยังถูกประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 16 ของประเทศไทยอีกด้วย แต่ปัจจุบันทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ทำการประเมินจำนวนของวาฬบรูด้าในไทย โดยคาดว่าน่าจะเหลือเพียง 50 – 70 ตัวเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าวาฬบรูด้ากำลังจะกลายเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และกำลังจะหายไปจากห่วงโซ่อาหารในท้องทะเลไทย ปัจจัยหลักที่ทำให้วาฬต้องเสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร และตายแบบผิดธรรมชาติเป็นเพราะปัจจัยจากการสูญเสียที่อยู่อาศัย การถูกเรือชน มลพิษทางเสียง อุณหภูมิที่เริ่มสูงขึ้นของน้ำทะเล การติดอวนประมง และอีกปัจจัยหลักที่พบได้มากที่สุดก็คือขยะพลาสติกที่วาฬกินเข้าไปจนทำให้เกยชายหาดตาย

ที่มาภาพ : http://academicparo5.dnp.go.th/บทความวิชาการ-งานวิจัย/สัตว์ป่าสงวน-19-ชนิด-ของปร/วาฬบรูด้า-brydes-whale/

          ในทุกปี ขยะพลาสติกมากกว่า 11 ล้านเมตริกตันถูกปล่อยทิ้งลงในทะเล ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลย่อมไม่รู้ว่าสิ่งนี้คือขยะ และเป็นมลพิษที่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมโดยแท้จริง เมื่อกินเข้าไปก็ย่อมทำให้ระบบทางเดินอาหารล้มเหลวได้ในทันที และสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่อย่างวาฬก็สามารถที่จะกลืนกินขยะพลาสติกเข้าไปเป็นจำนวนมากได้ทันทีที่อ้าปาก จึงไม่แปลกที่ทำสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่แบบนี้ตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว

          แล้วถ้าเราสูญเสียวาฬไป จะเกิดอะไรขึ้น? ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าวาฬสำคัญต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลมากทั้งในขณะที่น้องกำลังมีชีวิตและไม่มีชีวิต วาฬบางชนิดที่เป็นสัตว์นักล่า ถ้าน้องหายไปจากระบบนิเวศใต้ท้องทะเลความสมดุลใต้น้ำอาจหายไป อีกทั้ง ตลอดทั้งชีวิตของวาฬสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในตัวได้เท่ากับต้นไม้ 1,000 ต้น น้องวาฬจึงเป็นสัตว์อีกชนิดที่สามารถช่วยเราต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนได้

เอกสารอ้างอิง

https://becommon.co/world/whale-against-climate-change/#accept

https://www.setsocialimpact.com/Article/Detail/77521

https://km.dmcr.go.th/c_250