พื้นที่ชายฝั่งทะเล เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ ระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศในทะเลเชื่อมโยงกับทรัพยากรอื่น ๆ นอกเหนือจากทรัพยากรที่ดิน เช่น ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรแร่ ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวและนันทนาการ ทรัพยากรทางการเพาะเลี้ยงชายฝั่งและการประมง

ชายฝั่งทะเลของประเทศไทย มีความยาวทั้งสิ้น 3,148 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด แบ่งออกเป็น ชายฝั่งด้านอ่าวไทยทั้งสิ้น 17 จังหวัด ความยาว 2,055 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 65.28 และชายฝั่งทะเลด้านทะเลอันดามันทั้งสิ้น 6 จังหวัด ความยาว 1,093 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 34.72

แนวชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมระยะทางประมาณ 618 กิโลเมตร โดยเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขระยะทางประมาณ 154 กิโลเมตร (เป็นพื้นที่กัดเซาะรุนแรง 122 กิโลเมตร พื้นที่กัดเซาะปานกลาง 32 กิโลเมตร) แนวชายฝั่งที่มีการแก้ไขไปแล้วระยะทางประมาณ 464 กิโลเมตร ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีการกัดเซาะ แต่อยู่ในสภาวะที่เสี่ยงมีประมาณ 173 กิโลเมตร และพื้นที่ที่ต้องติดตามตรวจสอบอีกประมาณ 2,360 กิโลเมตร

การกัดเซาะบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล เกิดจากการขาดหายไปของตะกอนที่หมุนเวียนในระบบ ทำให้ระบบขาดความสมดุล สาเหตุการกัดเซาะเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการก่อสร้างโครงสร้างล้ำลงไปในทะเล โดยเฉพาะโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะในพื้นที่ใกล้เคียง และการเปลี่ยนแปลงสภาพของระบบนิเวศชายฝั่ง เช่นแนวปะการังหรือพื้นที่ป่าชายเลน ส่วนความรุนแรงของกระแสคลื่นลมตามธรรมชาติเป็นสาเหตุรองลงมา

แนวทางการป้องกันและแก้ไข

1. การศึกษาผ่านระบบหาด (Littoral Cell) พิจารณาจากลักษณะทางธรณีสัณฐานชายฝั่งที่ขยายครอบคลุมไม่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนตะกอนระหว่างระบบกลุ่มหาดที่อยู่ติดกัน ได้แก่ หัวแหลม ซึ่งเป็นลักษณะทางธรณีสัณฐานที่เห็นเด่นชัด และเกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งบริเวณนั้นเป็นเวลานาน แต่ละระบบกลุ่มหาดเริ่มจากการแบ่งชายฝั่งออกเป็นระบบกลุ่มหาดและตั้งชื่อตามโซนพื้นที่ชายฝั่งทะเล ดังนี้

2. การวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ชายฝั่งและการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลทางกายภาพของพื้นที่ ข้อมูลโครงสร้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน ข้อมูลสภาพปัญหาและพื้นที่ที่ประสบปัญหา ข้อมูลแผนการแก้ไขและแผนการก่อสร้างโครงสร้างต่าง ๆ ในอนาคต และข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ชนิดและปริมาณตัวแทนของตะกอน ข้อมูลตรวจวัดคลื่นข้อมูลตรวจวัดกระแสน้ำ เป็นต้น

3. จัดทำ Roadmap การป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

4. การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม เป็นการแก้ไขโดยการสลายพลังงานคลื่นที่เหมาะสม ช่วยให้เกิดการสะสมตัวของตะกอนทรายชายฝั่งและยึดแนวชายฝั่ง เหมาะสำหรับบริเวณชายฝั่งที่มีปัญหาถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง โดยใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โครงสร้างแข็ง (hard solution) ได้แก่ กำแพงกันคลื่น (sea wall) เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง (offshore break water) เขื่อนหินทิ้ง (revetment) เขื่อนกันทรายและคลื่น (jetty) หรือรอดักทราย (groin) และโครงสร้างอ่อน (soft solution) ได้แก่ แนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น เสาเข็มหรือเสาคอนกรีตสลายพลังคลื่น ไส้กรอกทราย การเติมทราย (beach nourishment) ซึ่งต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

เอกสารอ้างอิง

http://marinegiscenter.dmcr.go.th/kiosk/km_inner.php

เรียบเรียงโดย นายสุรพงษ์ บรรจงมณี

 

บทความล่าสุด

22 กุมภาพันธ์ 2024

ปลาเสือเยอรมัน

14 กุมภาพันธ์ 2024

กุ้งมังกรหัวเขียว

6 กุมภาพันธ์ 2024

กระเบนหางขาว