ข้อมูลนักท่องเที่ยว
สินค้าที่ระลึก
ทัวร์เสมือนจริง
บทความน่ารู้
ข่าวสาร
เกี่ยวกับเรา
ติดต่อเรา
การกิน “หูฉลาม” ทำร้ายธรรมชาติมากกว่าที่คิด
หน้าแรก
›
ฐานข้อมูลองค์ความรู้
›
การกิน “หูฉลาม” ทำร้ายธรรมชาติมากกว่าที่คิด
“ฉลาม” ถือเป็นนักล่าที่อยู่คู่ท้องทะเลมานานกว่า 400 ล้านปี เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมาตลอด พวกมันมีชีวิตรอดและเป็นนักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารใต้ท้องทะเล แม้ว่าภาพของปลาฉลามคือ สัตว์ที่ดุร้ายน่ากลัว แต่ในความเป็นจริง ปลาฉลามส่วนมากไม่ได้มีนิสัยก้าวร้าวอย่างที่ถูกสร้างภาพ ในทางตรงข้ามราว หนึ่งในสี่ ของปลาฉลามและกลุ่มปลากระเบน 1,000 กว่าชนิดทั่วโลกกำลังถูกมนุษย์คุกคาม ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจปีละนับร้อยล้านตัว จนอยู่ในภาวะที่ใกล้สูญพันธุ์
โดยบทบาทแล้ว ปลาฉลามคือ นักล่าสูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสมดุลของทะเล แต่ในปัจจุบันฉลามส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้ถูกล่าโดยมนุษย์ จับตัดครีบนำมาเป็นอาหารราคาแพง ไม่เว้นแม้แต่ยักษ์ใหญ่ใจดี ผู้ที่วันๆ กรองแต่แพลงก์ตอนกินเป็นอาหารอย่างปลาฉลามวาฬ
ที่มาภาพ :
https://www.wwfca.org/en/species/reef_sharks/
“หูฉลาม” ขึ้นชื่อว่าเป็นเมนูอาหารราคาแพงที่หากินไม่ได้ง่ายๆ ตามท้องตลาดทั่วไป มักเป็นหนึ่งในรายการอาหารสำหรับงานเลี้ยงมงคลมากมาย หรือเป็นเมนูแนะนำของภัตตาคารหรูระดับต้นๆ รวมถึงเป็นอาหารขึ้นชื่อที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมายาวนาน
ที่มาภาพ :
https://huasenghong.co.th/news/อาหาร-12-เสริมมงคล-ต้อนรับ/
ความจริงแล้วฉลามไม่มีหู แต่อวัยวะส่วนที่มนุษย์นิยมตัดและนำมาประกอบอาหาร คือ “ครีบ” ที่เป็นกระดูกอ่อนของฉลาม ลักษณะเป็นกระดูกอ่อน 2 ส่วน คือ ฐานครีบ และ ก้านครีบ โดยครีบปลาฉลามมีลักษณะเป็นเส้นๆ สำหรับส่วนที่นำมาทำอาหาร ก็คือส่วนที่เป็นก้านครีบ
สำหรับฉลามก็เหมือนกับปลาชนิดอื่นที่มีครีบเป็นอวัยวะสำคัญในการเคลื่อนที่ ทำหน้าที่เหมือนกับขาและเท้าของสัตว์บก นอกจากนี้ ครีบของพวกมันยังมีหน้าที่พยุงและรักษาการทรงตัวของปลาในน้ำ ไปจนถึงความคุมทิศทางการเคลื่อนไหวต่างๆ โดยทั้งปลาทั่วไปและฉลามแต่ละชนิดจะมีจำนวนครีบและลักษณะครีบแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือทำให้พวกมันเคลื่อนไหวไปมาใต้ท้องทะเลได้ ดังนั้นเมื่อฉลามสูญเสียครีบไป จึงไม่ต่างจากมนุษย์ที่ถูกตัดแขนตัดขาและไม่สามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้ตามปกติ แต่ที่น่าเศร้าก็คือเมื่อฉลามไม่มีครีบแล้วจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อีกและจมลงไปเสียชีวิตใต้ท้องทะเล
ในปีหนึ่งมีฉลามกว่า 100 ล้านตัวถูกฆ่า และครีบของฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกนำไปทำเป็นซุปหูฉลามหรือเมนูอื่นๆ ทำให้ปัจจุบันประชากรฉลามหลายสายพันธุ์ลดลงมากถึง 98% จาก 10 สายพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อแก่ท้องทะเล เนื่องจากฉลามจะทำหน้าที่รักษาความสมดุลของโครงสร้างประชากรปลาทะเล ในฐานะนักล่าลำดับสูงสุด ฉลามทำหน้าที่กำจัดปลาที่เชื่องช้า ป่วย หรือใกล้ตายตามวัย ช่วยคัดสรรสายพันธุ์ปลาที่แข็งแรง รักษาสมดุลประชากรปลากินพืชให้อยู่ในระดับพอเหมาะ ไม่สร้างความเสียหายให้กับถิ่นที่อยู่อาศัย รวมถึงควบคุมพฤติกรรมของปลากินเหยื่อขนาดรองลงมา เพื่อให้แบ่งสรรปันส่วนกันใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับการมีอยู่ของเสือในป่า
ที่มาภาพ :
https://www.salika.co/2021/07/17/stop-shark-overfishing/
ฉลามไม่ได้มีความสำคัญแค่กับสัตว์ทะเลอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับพืชและปะการังในทะเลอีกด้วย จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า เมื่อปลาฉลามครีบดำถูกจับมากเกินไป ทำให้ประมงพื้นบ้านที่จับหอยเชลล์มากว่าศตวรรษล่มสลาย เพราะเมื่อไม่มีฉลาม ปลากระเบนจมูกวัวที่เป็นเหยื่ออันดับหนึ่งของฉลามครีบดำก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างผิดปกติ และออกหากินหอยเชลล์จนหายไปจากพื้นที่ ไม่เหลือให้ชาวประมงได้ทำมาหากิน ด้านทะเลคาริบเบียน พบว่าเมื่อฉลามหายไปจำนวนผู้ล่าระดับรองลงมา เช่น ปลาหมอทะเล เพิ่มปริมาณมากขึ้นผิดปกติ ทำให้ปลากินพืชถูกล่าจากปลาหมอทะเลมากขึ้นด้วย ส่งผลต่อการควบคุมปริมาณสาหร่าย ทำให้ขยายตัวแย่งพื้นที่ปะการัง
นอกจากนี้เนื่องจากฉลามอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ทำให้คนที่กินหูฉลามบ่อยๆ เสี่ยงป่วยได้ ข้อมูลจาก Wildlife ช่วยสัตว์ป่า ระบุว่าฉลามเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในทะเล จึงสะสมสารพิษในปริมาณเข้มข้นตลอดช่วงอายุ ได้แก่ ปรอท สารหนู และ แคดเมียม ดังนั้นคนที่นิยมบริโภคเนื้อและครีมฉลาม ทำให้ร่างกายสะสมสารเหล่านี้ และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง รอยโรคที่ผิวหนัง โรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และโรคเกี่ยวกับระบบประสาท
สุดท้ายแล้วการที่มนุษย์พยายามออกตามล่าฉลามเพื่อนำครีบมาเป็นอาหารตามความเชื่อ ไม่ได้มีแค่ผลกระทบเรื่องจำนวนประชากรฉลามและทำร้ายธรรมชาติเพียงเท่านั้น แต่สุดท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบตามมาแน่ๆ ก็คือมนุษย์เรานี่เอง
อ้างอิง
https://www.thaipost.net/general-news/180568/
https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1047063
https://voicetv.co.th/read/HyZfpvFA7
บทความล่าสุด
24 มิถุนายน 2024
ภาวะขาดวิตามินซี (Hypovitaminosis C)
19 มิถุนายน 2024
โรคตัวแดงดวงขาว (White spot disease; WSD)
17 มิถุนายน 2024
ปรากฏการณ์คลื่นพายุซัดฝั่ง (Stoem surge)