ขยะทะเล (Marine debris) คือ ผลิตภัณฑ์จากฝีมือมนุษย์ที่ตกลงไปอยู่ในทะเล หรือของเสียที่ผ่านกระบวนการผลิตใด ๆ แล้วไหลลงสู่ทะเล โดยการจงใจทิ้งหรือการปล่อยปละทิ้งขว้างโดยไม่ตั้งใจ สู่สภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงเครื่องมือประมงและวัสดุที่เกิดจากกิจกรรมขนส่งทางเรือ
ขยะทะเลมาจากแหล่งสำคัญ 2 แหล่ง คือ
- จากกิจกรรมบนฝั่ง เช่น จากแม่น้ำสายหลัก จากการท่องเที่ยวชายหาด แหล่งอุตสาหกรรมบริเวณชายฝั่ง ของเสียที่ปล่อยมาจากบ้านเรือน จากการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่ง
- กิจกรรมในทะเล เช่น การขนส่งทางเรือ เรือท่องเที่ยว ประมงชายฝั่ง และ platform ในทะเล
ขยะทะเลอาจพบใกล้แหล่งกำเนิด หรือถูกพัดพาไปได้ในระยะทางไกล ๆ ด้วยกระแสน้ำและกระแสลม ดังนั้น ขยะทะเลจึงถูกพบในพื้นที่ทะเลทั่วโลก ไม่เพียงแต่บริเวณชายฝั่ง แต่ยังสามารถพบได้ในสถานที่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดอย่างชัดเจน เช่น บนเกาะกลางมหาสมุทรและบริเวณขั้วโลก สามารถพบขยะทะเลลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ กลางน้ำที่ระดับความลึกต่าง ๆ และจมลงสู่พื้นทะเล ประมาณกันว่าขยะทะเลทั่วโลก มีปริมาณ 1,800 ตัน/วัน หรือ 8 ล้านชิ้น/วัน หรือ 13,000 ชิ้น/ตร.กม. มากกว่าจำนวนปลาที่จับได้ถึง 3 เท่า (UNEP, 2008)
สถานการณ์ขยะทะเล ในประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ แจ้งปริมาณขยะในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2557 มีมากถึง 60,273 ตัน/วัน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 19 ที่ถูกนำกลับไปใช้ใหม่ และเพียงร้อยละ 27 ที่ถูกกำจัดถูกวิธี จึงประเมินกันว่าขยะเหล่านี้นับพันตันจะลงสู่ทะเล จากการเก็บรวบรวมข้อมูลขยะทะเลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามแบบฟอร์มที่ดัดแปลงมาจากการเก็บข้อมูลของ International Coastal Clean Up ระหว่างปี พ.ศ. 2552–2558 ในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด ตราด ระยอง จันทบุรี ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ปัตตานี นราธิวาส และระนอง พบขยะทะเล จำนวน 363,228 ชิ้น โดยขยะทะเลที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ถุงพลาสติก ฝาจุก เชือก หลอดพลาสติก กระดาษ บุหรี่ ถ้วยชามพลาสติก ทุ่นลอย ขวดเครื่องดื่ม เสื้อผ้า เป็นต้น โดยร้อยละ 46 ของขยะที่สำรวจพบมีแหล่งกำเนิดจากกิจกรรมชายฝั่งและการพักผ่อนตามชายทะเล
ผลกระทบจากขยะทะเลมีหลายด้าน ประกอบด้วย
- ผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนและยังทำให้เกิดการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น โดยการติดมากับขยะที่ล่องลอยอยู่ในน้ำ
- ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สร้างความเสียหายให้กับเรือและเครื่องมือประมง อีกทั้งส่งผลต่อจำนวนสัตว์น้ำและการทำการประมง
- ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทำลายทัศนียภาพที่สวยงาม ทำให้คุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวลดลง
- ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ทะเลและมนุษย์ได้รับบาดเจ็บจากขยะบริเวณชายหาด หรืออาจได้รับสารพิษจากขยะเหล่านั้น
- ผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก โดยพบว่าร้อยละ 3 ของสัตว์ทะเลหายากที่ตายมีสาเหตุมาจากการกินขยะทะเล
เอกสารอ้างอิง
http://marinegiscenter.dmcr.go.th/kiosk/km_inner.php
เรียบเรียงโดย นายสุรพงษ์ บรรจงมณี