ความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิดอยู่ในระบบนิเวศหรือแหล่งที่อยู่อาศัย โดยสามารถแบ่งได้เป็นความหลากหลายระหว่างสายพันธุ์(Genetic) ระหว่างชนิดพันธุ์(Species) และระหว่างระบบนิเวศ (Ecosystem) หรือแหล่งที่อยู่อาศัย
ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง หมายถึง จำนวนชนิดและจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นๆ

สิ่งมีชีวิตในโลกนี้มีจำนวนเท่าไหร่
นักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณว่าสิ่งมีชีวิตในโลกมีอย่างน้อย 5-30 ล้านชนิด มีชนิดที่ได้รับการตั้งชื่อแล้วประมาณ 2 ล้านชนิด โดยมากกว่าร้อยละ 50 เป็นสิ่งมีชีวิตที่พบในป่าเขตร้อน กลุ่มสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่สุดที่ได้รับการตั้งชื่อคือกลุ่มแมลง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และพืช
ในแต่ละปีโลกกำลังสูญเสียสัตว์และพืชในป่าเขตร้อนอย่างน้อย 27,000 ชนิด ส่วนความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศอื่น ๆ เช่น ในแนวปะการัง พื้นที่ชุ่มน้ำ เกาะ ก็กำลังลดลงด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์

ระบบนิเวศทางทะเลไทย
ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว 2,667 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัด แบ่งเป็นชายฝั่งด้านอ่าวไทย 1,653 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน 1,014 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด เป็นพื้นที่กว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร เป็นที่รวมระบบนิเวศต่างๆ เช่น หาดทราย หญ้าทะเล แนวปะการัง ที่มีความสำคัญในด้านการเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกว่า 10,000 ชนิด หอยทะเลกว่า 2,000 ชนิด และปลาทะเลกว่า 1,600 ชนิด เป็นแหล่งหากินของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด เป็นบริเวณที่เอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งในด้านการเป็นแหล่งอาหาร แหล่งทำกิจกรรมการประมง ท่องเที่ยว และเป็นที่มาของรายได้ทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ

ความสำคัญของความหลากลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง
1. แหล่งผลิตอาหารและวัตถุดิบสำหรับสินค้าและปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพและการดำรงชีวิต อันจะส่งผลถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมและคุณภาพชีวิตของมนุษย์
2. เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบในธรรมชาติสามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้สภาพการณ์ของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เช่น การเกิดปรากฎการณ์อุณหภูมิน้ำทะเลสูงผิดปกติทำให้ปะการังบางชนิดตาย  ลง แต่ก็ยังมีปะการังชนิดอื่น ๆ สามารถทนทานต่อสภาพดังกล่าวได้ ทำให้ระบบนิเวศแนวปะการังไม่สูญหายไปจากโลก
3. มีส่วนช่วยให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น พืชชนิดต่างๆ ช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างอากาศบริสุทธิ์
4. ช่วยเสริมสร้างสุนทรียภาพในการชื่นชมสิ่งมีชีวิตที่มีชนิดและรูปแบบที่หลากหลาย

จุดเริ่่มต้นของห่วงโซ่อาหาร
ทะเลนอกจากเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นแหล่งอาศัยของ ”แพลงก์ตอน” ซึ่งก็คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ มีทั้งแพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์ที่รวมไปถึงตัวอ่อนของสัตว์น้ำ เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา หรือแม้กระทั่งแมงกะพรุน
แพลงก์ตอนนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารในทะเล โดยเป็นอาหารของกุ้ง หอย ปู ปลา แม้กระทั่งวาฬบางชนิด ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะถูกกินต่อเป็นทอดๆ จนถึงสิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้ล่าขนาดใหญ่ เช่น ปลาฉลาม นกทะเล แม้กระทั่งมนุษย์

ระบบนิเวศชายหาด
บริเวณหาดทราย หาดหิน หาดโคลน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในแต่ละบริเวณ เช่น ขุดรู หรือฝังตัวในพื้นทรายหรือพื้นโคลน เกาะติดบนก้อนหินหรือตามซอกหิน เช่น หอย ดอกไม้ทะเลบางชนิด รวมทั้งสัตว์ที่อพยพเข้ามาหากินเป็นครั้งคราวในบริเวณนี้ในช่วงน้ำขึ้น

ระบบนิเวศป่าชายเลน
พันธุ์ไม้ชายเลนในประเทศไทยมีประมาณ 80 ชนิด พันธุ์ไม้ชนิดเด่นที่พบได้แก่ โกงกาง โปรง แสม ตะบูน ป่าชายเลนเป็นที่อยู่อาศัย วางไข่ อนุบาลของสัตว์หลายชนิด โดยพบว่าสัตว์ในป่าชายเลนของประเทศไทย ในกลุ่มกุ้งปู มีไม่ต่ำกว่า 54 ชนิด หอย 26 ชนิด กุ้ง 15 ชนิด ปลา 72 ชนิด แมลง 357 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 25 ชนิด นกมากกว่า 100 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 39 ชนิด โดยแบ่งตามแหล่งที่อยู่อาศัยได้เป็นพวกที่อยู่ตามผิวดินเช่น หอย ปลาตีน พวกที่อยู่ใต้ผิวดินเช่น ไส้เดือนทะเล ปูแสม พวกที่อยู่ในน้ำได้แก่ กุ้ง ปู ปลา และพวกที่อาศัยตามต้นไม้ เช่น หอยนางรม เพรียงหิน แมลง นก และลิง

ระบบนิเวศหญ้าทะเล
หญ้าทะเล เป็นพืชมีดอกที่ปรับตัวให้ดำรงชีวิตอยู่ในทะเล โดยส่วนใหญ่อยู่เป็นกลุ่มตามชายฝั่งในบริเวณที่แสงส่องถึง แหล่งหญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมโยงระหว่างป่าชายเลนและแนวปะการัง เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ปลาเก๋า ปูม้า ปลิงทะเล และเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใกล้สูญพันธุ์โดยเฉพาะในประเทศไทย

ระบบนิเวศแนวปะการัง
แนวปะการัง เป็นบริเวณที่รวมความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลค่อนข้างสูง ทั้งตัวปะการังเองซึ่งในประเทศไทยพบไม่ต่ำกว่า 300 ชนิด แนวปะการังเป็นแหล่งหากิน หลบภัย อาศัย เลี้ยงดูตัวอ่อน ของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด มีการประเมินว่าสิ่งมีชีวิตที่พบในแนวปะการังทั้งที่อยู่ในในโครงสร้างหินปูนของแนวปะการัง แทรกอยู่ระหว่างกิ่งก้านปะการัง และที่อาศัยหากินในระบบนิเวศแนวปะการังอย่างถาวรและชั่วครั้งคราว มีรวมกันทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 4,000 ชนิด

ระบบนิเวศทะเลเปิด
ระบบนิเวศทะเลเปิด เป็นระบบนิเวศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความลึกตั้งแต่ 200 เมตร ถึงมากกว่า 11,000 เมตร บริเวณที่มีการสำรวจโดยใช้อวนหรือยานใต้น้ำ ส่วนใหญ่เป็นบริเวณที่แสงสว่างส่องถึงอยู่ที่ความลึก 200-1,000 เมตร เรียกว่า Mesopelagic สิ่งมีชีวิตบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นปลา กุ้ง แมงกะพรุน หวีวุ้น ทะเลที่มีความลึกระหว่าง 1,000 – 4,000 เมตร เรียกว่า Bathypelagic เป็นบริเวณที่มืดมิด มีเพียงแสงที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตบางชนิดเท่านั้น ทะเลส่วนที่ลึกลงไปมากกว่า 4,000 เมตร เรียกว่า Hadopelagic เป็นส่วนของหลุมลึกในทะเลที่ยังมีการศึกษาน้อยมาก

“ ความหลากหลายทางชีวภาพถือเป็นรากฐานในการสร้างความมั่งคงด้านอาหาร คุณภาพชีวิต และการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการใช้อย่างชาญฉลาด คุ้มค่า ภายใต้แนวทางการจัดการ การอนุรักษ์และพัฒนาที่เหมาะสม”

“หากไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายของแหล่งที่อยู่อาศัย สิ่งมีชีวิตจะไร้ทางเลือกในการอยู่รอดเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป”

เอกสารอ้างอิง/อ่านประกอบ

http://chm-thai.onep.go.th/chm/MarineBio/

http://www.nwf.org/Wildlife/Wildlife-Conservation/Biodiversity.aspx

http://www.ecokids.ca/pub/eco_info/topics/biodiversity/species.cfm

http://study.com/academy/lesson/what-is-species-diversity-definition-importance-examples.html

http://fieldtrip.ipst.ac.th/intro_sub_content.php?content_id=24&content_folder_id=317

http://oceanexplorer.noaa.gov/explorations/02sab/background/ecology/ecology.html

 

บทความ โดย นลินี  ทองแถม

ออกแบบ โดย ลลิตา  ปัจฉิม และอดิศร  เจริญวัฒนาพร