จากการดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำในพื้นที่อ่าวไทยตอนกลางปีละ 2 ครั้ง ในช่วงฤดูแล้ง และฤดูฝน พบว่า คุณภาพน้ำส่วนใหญ่มีค่าพอใช้ถึงดี พื้นที่ที่เสี่ยงและควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมักพบปัญหาด้านคุณภาพน้ำบ่อยครั้ง ได้แก่ บริเวณหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยว หาดบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง บริเวณปากแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีแหล่งชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น บริเวณปากแม่น้ำกระแดะ มีแหล่งชุมชนและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
โดยรวมในพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง มีสถานะคุณภาพน้ำพอใช้ทั้งในพื้นที่ปากแม่น้ำและแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมักเกิดปัญหาคุณภาพน้ำเนื่องจากน้ำทิ้งจากชุมชน ในส่วนปัจจัยของสารอาหาร และปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม จึงควรต้องมีการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
จากการดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำในพื้นที่อ่าวไทยตอนล่างปีละ 2 ครั้ง ในช่วงฤดูแล้ง และฤดูฝน พบว่า คุณภาพน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดี พื้นที่เสี่ยงเนื่องจากพบปัญหาด้านคุณภาพน้ำบ่อยครั้ง ได้แก่ บริเวณอ่าวปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปากทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา และปากแม่น้ำปัตตานี จังหวัดปัตตานี ปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) คือ ปริมาณสารอาหารสูงในบางช่วงเวลาโดยภาพรวมพบว่าพื้นที่อ่าวไทยตอนล่างมักพบว่ามีปริมาณสารอาหารและแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มสูง ซึ่งเกิดจากน้ำทิ้งชุมชน เนื่องจากพื้นที่ปากแม่น้ำและในอ่าวเป็นแหล่งที่สะสมและรองรับมลพิษจากแผ่นดิน และอ่าวยังมีลักษณะเป็นอ่าวกึ่งปิด จึงมักเกิดปัญหาคุณภาพน้ำจากปัจจัยดังกล่าว จึงควรเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
เอกสารอ้างอิง
https://km.dmcr.go.th/c_1/s_184/d_2795