จากการดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเล และปากแม่น้ำของอ่าวไทยตอนบน จำนวนปีละ 6 ครั้ง (ทุก 2 เดือน) พบว่า คุณภาพน้ำส่วนใหญ่จัดอยู่ในสถานะพอใช้ (ร้อยละ 50) รองลงมาอยู่ในสถานะดี (ร้อยละ 17 ) เสื่อมโทรม (ร้อยละ 30) และเสื่อมโทรมมาก (ร้อยละ 3) โดยไม่พบคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยทั่วไปพื้นที่อ่าวไทยตอนบนนับว่ามีสถานะคุณภาพน้ำทะเลที่ไม่ดีนัก โดยส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม และมีพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ และปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยปัจจุบันคุณภาพน้ำส่วนใหญ่ที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล ได้แก่ ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด และสารอาหาร ยกเว้นในพื้นที่หาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ที่มีคุณภาพน้ำค่อนข้างดี โดยคุณภาพน้ำที่พบมีการผันแปรไปตามฤดูกาล สำหรับพื้นที่เกาะลอย จังหวัดชลบุรี พบว่า ค่าคุณภาพน้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลเช่นกัน และพบว่าปัจจัยคุณภาพน้ำในพื้นที่ที่พบมีปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ได้แก่ ปริมาณแบคทีเรียโคลิฟอร์มทั้งหมดค่อนข้างสูง และปริมาณออกซิเจนละลายน้ำต่ำ มีปริมาณสารอาหารไนเตรทและแอมโมเนียค่อนข้างสูง โดยพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวังคือบริเวณชายฝั่งใกล้แหล่งชุมชน และแหล่งอุตสาหกรรม

พื้นที่อ่าวไทยตอนบนมักพบปัญหาการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชหรือน้ำเปลี่ยนสีบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่าต่ำในช่วงเวลากลางคืน ทำให้บ่อยครั้งที่พบสัตว์น้ำตายในพื้นที่บริเวณชายฝั่ง ได้แก่ บริเวณปากแม่น้ำบางตะบูน บ้านแหลม ชายหาดชะอำ และคลองบางขุนทียนเชื่อมต่อคลองสาขาจังหวัดสมุทรสาคร โดยชนิดของแพลงก์ตอนพืชที่พบการสะพรั่งอยู่บ่อยครั้ง ได้แก่ Noctiluca scintillans Ceratium furca และ Chaetoceros spp. โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน เกิดน้ำเปลี่ยนสีเป็นประจำ

      

ภาพผลกระทบจากการปล่อยน้ำเสียลงในพื้นที่ชายฝั่งโดยไม่มีการบำบัดส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ

ที่มาภาพ: https://km.dmcr.go.th/wp-content/uploads/2013/08/num-2.png

เอกสารอ้างอิง

https://km.dmcr.go.th/c_1/s_184/d_2795