
กรุงศรีอยุธยาเป็นอดีตราชธานีของประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากเพราะเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศจากตะวันตก มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและรับวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกเข้ามาตกแต่งสวนภายในพระบรมมหาราชวังบริเวณพระที่นั่ง มีบาทหลวงชาวต่างชาติที่เคยเข้ามาอาศัยในกรุงศรีอยุธยาเขียนบันทึกไว้ถึงความยิ่งใหญ่และสวยงามของพระบรมมหาราชวังและพระที่นั่งต่างๆไว้หลายคน
พระที่นั่งที่จะกล่าวถึงคือพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ หรือ พระที่นั่งท้ายสระ เป็นพระที่นั่งขนาดเล็ก ตั้งอยู่ภายในพระราชวังหลวง สร้างขึ้นโดย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งราชวงศ์ปราสาททอง ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้เป็นที่ประทับและสำราญพระราชหฤทัย โดยสร้างเป็นปราสาทจตุรมุขอยู่บนเกาะ ขนาดขื่อกว้าง 6 เมตร สูง 40 เมตร มีเครื่องยอด 9 ชั้น มีพรหมพักตร์ มีฉัตรและหลังคามุงด้วยกระเบื้องดีบุก มีสระน้ำล้อมรอบ ด้านหลังพระที่นั่งมีสระเลี้ยงปลาเงินปลาทอง เรียกว่าอ่างแก้ว ภายในอ่างก่อเป็นภูเขาและทำน้ำพุ ตั้งอยู่ท้ายพระราชวังหลวง ระหว่างพระมหาปราสาท 3 องค์ คือ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท และพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
ภาพแผนที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ จากมุมสูง
ที่มาภาพ: google earth
จากเอกสารที่บันทึกไว้ของบาทหลวงฝรั่งเศส นิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) ที่เขามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ.2224 – 2228 และซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ผู้ที่เป็นเป็นราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2230 ซึ่งทั้งสองได้บรรยายไว้ถึงความงดงามของปราสาทราชวังการตกแต่งประดับประดาถายในอาคารและการจัดสวนภายนอก ภูเขาจำลองและอ่างเลี้ยงปลาเงินปลาทองและสระน้ำที่เลี้ยงปลาที่อยู่ล้อมรอบพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ไว้ด้วย

ภาพ เขามอและอ่างแก้ว พร้อมทั้งปะการังที่จัดตกแต่งอยู่ด้านหน้า
ซึ่งภายในอ่างแก้วได้ก่อเป็นภูเขาและน้ำพุไว้ด้วยเรียกเขามอและมีการนำเอาปะการังมาตกแต่งไว้ด้านหน้าของอ่างแก้วอีกด้วย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการนำของหายากจากแดนไกลมาประดับตกแต่งซึ่งสื่อให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น ต่อมาหลังจากกรุงศรีฯได้เสียแก่ข้าศึกบริเวณพระที่นั่งต่างๆ ถูกเผาทำลายและอ่างแก้วและเขามอได้ถูกทิ้งร้างไว้เป็นเวลานานกว่า 250 ปี แต่อย่างไรก็ยังเหลือซากของก้อนและโขดปะการังที่เคยใช้ประดับตกแต่งอ่างแก้วและเขามอแห่งนี้อยู่

ภาพซากปะการังที่เคยอยู่หน้าอ่างแก้วและเขามอบริเวณพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์
ปะการังที่ใช้ในการตกแต่งอ่างแก้วดูจากลักษณะภายนอกสันนิษฐานว่าเป็นปะการังพวกปะการังโขดแต่ไม่ทราบชนิดแน่ชัดเพราะผุพังไปอย่างมากจนหาลักษณะที่ใช้จำแนกชนิดได้ยาก นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสไปเยี่ยมชมพระราชวังโบราณที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลองหาโอกาสไปดูปะการังที่อ่างแก้วบริเวณด้านหลังของพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ได้
เอกสารอ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์
https://silpa-mag-big.staging.matichon.co.th/history/article_48021
บทความล่าสุด

ตอนที่ 3 เทคนิคการเลือกซื้อปลาสวยงาม

ตอนที่ 2 ประเภทของปลาสวยงาม
