ฉลามปรากฎตัวขึ้นมาบนโลกนี้กว่า 400 ล้านปีมาแล้ว (ไดโนเสาร์ชนิดแรกถือกำเนิดขึ้นราว ๆ 230 ล้านปีที่แล้วก่อนจะสูญพันธุ์ ไปเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว มนุษย์รุ่นแรกของโลกเกิดขึ้นในทวีปแอฟริกาเมื่อราว ๗ – ๔ ล้านปีมาแล้ว มนุษย์ยุคปัจจุบันมีวิวัฒนาการมาประมาณ 2 แสนปี)
ภาพ ฉลามยุกดึกดำบรรพ์
ฉลามเป็นปลากระดูกอ่อนที่มีความหลากหลายสูงมาก ทั่วโลกมีฉลามมากกว่า 440 ชนิด ฉลามมีความหลากหลายของรูปทรง สีสัน และขนาด ขนาดที่เล็กที่สุดคือฉลามแคระ Dwarf lantern shark (Etmopterus perryi Springer & Burgess, 1985) มีขนาดประมาณ 17 เซนติเมตร และชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือฉลามวาฬ whale shark (Rhincodon typus (Smith, 1828)) มีขนาดประมาณ 20 เมตร
ภาพ ฉลามแคระ
ภาพ ฉลามวาฬ
ความสำคัญของฉลามต่อระบบนิเวศ
ปลาฉลามมีหน้าที่รักษาสมดุลในระบบนิเวศของประชากรปลาทะเล เพราะเป็นนักล่าลำดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ฉลามทำหน้าที่กำจัดปลาที่เชื่องช้า ป่วย หรือใกล้หมดอายุตามวัย ช่วยคัดสรรสายพันธุ์ปลาอื่นๆให้เหลือแต่ตัวที่แข็งแรง รักษาสมดุลประชากรปลากินพืชให้อยู่ในระดับพอเหมาะไม่สร้างความเสียหายให้กับถิ่นที่อยู่อาศัย และยังควบคุมประชากรของปลากินเหยื่อขนาดรองๆ ลงมาให้เหมาะสม ทำให้แบ่งสรรกันใช้ทรัพยากรได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ
หากฉลามหมดไปจากระบบนิเวศจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อห่วงโซ่อาหาร การศึกษาความสำคัญของฉลามต่อแนวปะการังในทะเลคาริบเบียน พบว่าหากผู้ล่าสูงสุดอย่างฉลามหายไปจำนวนผู้ล่าระดับรองๆ ลงมาเช่นปลาหมอทะเล จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนผิดปกติ ทำให้เกิดการล่าปลากินพืชมากตามไปด้วย เมื่อปลากินพืชอย่างเช่นปลานกแก้วลดจำนวนลงมากๆ ก็จะส่งผลต่อการควบคุมปริมาณสาหร่าย ทำให้สาหร่ายในระบบนิเวศขยายตัวแย่งพื้นที่ปะการัง หรือขึ้นปกคลุมจนปะการังไม่สามารถแข่งขันได้ จนนำไปสู่สภาวะปะการังเสื่อมโทรม และเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศโดยรวม
จากการศึกษานอกชายฝั่งรัฐแคโรไลนาในสหรัฐอเมริกาพบว่า การที่ปลาฉลามครีบดำถูกจับออกมามากเกินไป ได้นำไปสู่การล่มสลายของประมงพื้นบ้านที่ดำรงอยู่ด้วยการจับหอยเชลล์มากว่าศตวรรษ เพราะเมื่อไม่มีฉลาม ปลากระเบนจมูกวัวที่เป็นเหยื่ออันดับหนึ่งของฉลามครีบดำก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างผิดปกติ และออกหากินหอยเชลล์อย่างหนัก จนกระทั่งประชากรหอยเชลล์หายไปจากพื้นที่ ไม่เหลือให้ได้ชาวประมงหากินอีกต่อไป
ฉลามหูดำ
กระเบนจมูกวัว
หอยเชลล์
ไม่เฉพาะแต่แนวปะการังเท่านั้นที่ต้องการฉลาม เพราะงานศึกษาจากฮาวายพบว่าแนวหญ้าทะเลที่มีฉลามเสือ ปรากฏตัวอยู่ ช่วยทำให้เต่าทะเลหากินแบบกระจายตัวกันไปทั่ว เพราะความระแวงฉลามเสือ พวกมันจึงไม่หากินเฉพาะที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป ในทางกลับกันเมื่อฉลามเสือหมดไปจากพื้นที่ เต่าทะเลหากินในพื้นที่เดิมอย่างสบายใจโดยไม่ต้องระวังตัว จนทำให้แนวหญ้าทะเลบางบริเวณเกิดความเสียหาย
ฉลามเสือ
เต่าตนุ
ปลาฉลามอาจมองดูเป็นสัตว์ดุร้ายกระหายเลือด แต่ในโลกของความเป็นจริงนั้นมีสถิติที่น่าทึ่งก็คือในบรรดาปลาฉลามที่มีอยู่ประมาณ 440 ชนิดทั่วโลกนั้น มีเพียง 30 ชนิดเท่านั้นที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และมีเพียง4-5 ชนิดเท่านั้นที่อาจเป็นฝ่ายที่ทำร้ายมนุษย์ก่อน จากสถิติของคนที่ถูกฉลามทำร้ายมีจำนวนประมาณ 28-30 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตไม่เกิน 10 รายต่อปี ซึ่งนับว่าน้อยกว่าคนที่ถูกฟ้าผ่าตายหรือถูกผึ้งต่อยตายเสียอีก แต่ ในทางตรงกันข้ามปลาฉลามกลับเป็นฝ่ายถูกไล่ล่าและตกเป็นเหยื่อของมนุษย์ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัวต่อปี
ฉลามขาว