Blue Sea Dragon หรือ Blue sea slug ถูกคลื่นซัดเข้าหาดกะรน จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 30 – 31 สิงหาคม 2566 นั้น มีชื่อภาษาไทยว่า ทากจิ้งจก จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าเป็นทากเปลือย ชนิด Glaucilla sp. เป็นสัตว์ทะเลตัวจิ๋ว ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มหอย (Mollusca) ที่ไม่มีเปลือก เรียกกลุ่มนี้ว่า ทากเปลือย (Sea slug) ปัจจุบันมี 5 ชนิดทั่วโลก แบ่งเป็นสกุล Glaucus จำนวน 1 ชนิด และ Glaucilla จำนวน 4 ชนิด พวกมันดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอนถาวร ที่ตลอดช่วงชีวิตจะลองลอยใกล้ผิวทะเล โดยมีกระแสน้ำและคลื่นลมพัดพาไปยังที่ต่างๆ และอาศัยแรงตึงผิวของน้ำทะเลในการเกาะใต้ผิวน้ำทะเล โดยใช้แผ่นเท้าขนาดใหญ่เกาะใต้ผิวน้ำแบบหงายท้องขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งด้านท้องของมันจะมีสีน้ำเงินเข้ม เพื่อพรางตัวให้กลืนกับสีน้ำทะเล ส่วนด้านหลังมีสีเงินหันสู่ท้องทะเล เป็นการพรางตัวไม่ให้นักล่าใต้ทะเลเห็น โดยจะพบ Blue Sea Dragon ได้ตามมหาสมุทรและชายฝั่งน้ำอุ่นแถบประเทศออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และยุโรป ไม่ค่อยมีรายงานในไทย
Blue Sea Dragon ล่าเหยื่อที่อาศัยล่องลอยอยู่ใกล้ผิวทะเลเช่นเดียวกัน ได้แก่ แมงกะพรุนหมวกโปรตุเกส (Poryuguese man of war) แมงกะพรุนเรือใบ (By-the-wind sailor) แว่นตาพระอินทร์ (Blue button) และบางครั้งก็กินหอยม่วง (Violet snail) โดยปกติแล้วทากทะเลชนิดนี้ไม่สามารถผลิตเข็มพิษได้ด้วยตัวเอง แต่จะมีการเก็บสะสมเข็มพิษจากเหยื่อที่กินเข้าไป ใช้ในการป้องกันตัว โดยเข็มพิษจะถูกเก็บไว้ที่อวัยวะที่คล้ายๆ กับนิ้วมือ (Cerate) ถึงแม้จะถูกพัดเข้าฝั่งจนติดทราย พิษในตัวก็ยังคงทำงานอยู่ หากคนไปจับหรือโดนจะเจ็บปวดเหมือนโดนเข็มพิษ จึงไม่แนะนำให้ไปจับเล่น หากโดนอาจใช้น้ำส้มสายชูเช่นเดียวกับโดนแมงกะพรุน
เอกสารอ้างอิง
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0eaifS32mwurQJV973kxk8jHhL1jkjYyERN5jjT3PMwQENSMprdhbn1aNhdDJMaiBl&id=100063772982959&mibextid=K8Wfd2
https://www.thairath.co.th/news/society/2721550
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7844811