ปลาสวยงามที่อยู่ภายใต้การดูแลของมนุษย์ จะต้องได้รับปัจจัยยังชีพต่างๆ อาทิ อาหาร น้ำและยารักษาโรค ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการดำรงอยู่ ด้วยเหตุนี้ผู้เลี้ยงจึงต้องมีวิธีการในการดูแลและการเอาใจใส่ เพื่อให้ปลาสวยงามแข็งแรง และมีอายุยืนยาว
        ซึ่งประการแรกของการเลี้ยงปลาสวยงามนั้น ผู้เลี้ยงจะต้องตอบคำถามที่ว่า “ปลาสวยงามประเภทไหนที่ต้องการเลี้ยง” เนื่องจากปลาแต่ละประเภทมีสภาพแวดล้อมในการดำรงอยู่ และการจัดการที่แตกต่าง ปลาสวยงามทุกชนิดบนโลกใบนี้จึงไม่สามารถเลี้ยงได้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน
         เราอาจจะคุ้นเคยกับปลาบางชนิด เช่น ปลาทอง ปลากัด และปลาการ์ตูน แต่รู้หรือไม่ปลาทั้ง 3 ชนิดข้างต้น ดำรงชีวิตในความเหมาะสมหรือคุณภาพน้ำที่ต่างกัน โดยปลาทอง(ถูกจัดว่าเป็นปลาน้ำเย็น) สามารถอยู่ได้ในน้ำจืด ที่อุณหภูมิน้ำ 4 องศาเซลเซียส แต่ในขณะที่ปลากัด (ถูกจัดว่าเป็นปลาน้ำจืดเขตร้อน) จะเริ่มอ่อนแอ หากถูกเลี้ยงในอุณหภูมิต่ำว่า 20 องศาเซลเซียส (วรวรรณ, 2554) ส่วนปลาการ์ตูนเป็นปลาที่มีแหล่งอาศัยอยู่ในทะเล ฉะนั้นตลอดชีวิตของปลาการ์ตูนอยู่ท่ามกลางน้ำที่มีความเค็มนี่เป็นเพียงแค่หนึ่งปัจจัยที่ทำให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมส่งผลต่อการดำรงชีวิตของปลาแต่ละประเภท
ภาพ : ปลาแต่ละประเภทมีสภาพแวดล้อมในการดำรงอยู่ที่แตกต่างกัน (Jeremy, 2005)
ที่มา : ทศนัย งะหมาด
          จากปลาทั้ง 3 ประเภทดังที่กล่าวมา ปลาสวยงามน้ำจืดเขตร้อน (กลุ่มปลากัด) เป็นกลุ่มปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีชนิดพันธุ์ที่หลากหลาย (ตารางที่ 1) สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำได้ดี ซึ่งอุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตของปลาประเภทนี้อยู่ระหว่าง 26 – 30 องศาเซลเซียส (Jessie, 2023) ส่วนปลาสวยงามน้ำเย็น (กลุ่มปลาทอง) บางชนิดจะชอบอุณหภูมิน้ำที่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส แต่โดยส่วนใหญ่อุณหภูมิน้ำของปลาประเภทนี้อยู่ระหว่าง 15 – 25 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาสวยงาม (your aquarium, 2022) และสำหรับปลาทะเลสวยงาม (กลุ่มปลาการ์ตูน) เป็นปลาที่ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนักเลี้ยงปลาสวยงามมืออาชีพต่างเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นปลาที่เลี้ยงยากที่สุด (โยธิน, 2559) เนื่องจากปลาทะเลสวยงามกว่าร้อยละ 99 ยังคงต้องจับมาจากธรรมชาติ (ดูบทความตอนที่ 1) ดังนั้นการเลี้ยงปลาที่จับมาจากทะเล เปรียบเสมือการยกทะเลมาไว้ในบ้าน  ผู้เลี้ยงจำเป็นจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมภายในตู้ ให้เสมือนกับสภาพแวดล้อมภายในทะเลเพื่อให้ปลาทะเลสามารถปรับสภาพ และดำรงอยู่ได้ โดยในขั้นตอนนี้ผู้เลี้ยงต้องพึ่งพาอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง
ตารางที่ 1 : การเปรียบเทียบการมีอยู่ของชนิดพันธุ์ที่หามาเลี้ยงได้ของปลาทั้งสามประเภท
ที่มา : วรวรรณ, 2554
           สำหรับผู้เลี้ยงที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาสวยงาม ปลาน้ำจืดเขตร้อนและปลาน้ำเย็นจึงเป็นตัวเลือกที่ดีในการเริ่มต้นเลี้ยง เนื่องจากเป็นปลาสวยงามที่มีอัตรารอดสูง เลี้ยงง่ายและมีต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ แต่ผู้เขียนไม่แนะนำให้เลี้ยงปลาสวยงามทั้งสองประเภทนี้ในตู้เดียวกัน
          เมื่อผู้เลี้ยงตัดสินใจเลือกประเภทปลาสวยงามที่ต้องการเลี้ยงได้แล้ว ลำดับต่อไปคือการเลือกซื้อปลาสวยงาม แต่ก่อนที่ผู้เลี้ยงจะตัดสินใจซื้อปลาสวยงามนั้น ผู้เลี้ยงจะต้องคำนึงถึงปัจจัยใดบ้าง และมีวิธีการเลือกซื้อปลาสวยงามอย่างไร สามารถติดตามต่อได้ในบทความตอนที่ 3
เรียบเรียงข้อมูลโดย ทศนัย งะหมาด
บรรณานุกรม
โยธิน รุ่งเจริญ. 2559. การดูแลรักษาปลาทะเล. คู่มือเลี้ยงปลาทะเล บริษัท ชุนหสาส์น พับลิชชิ่ง จำกัด กรุงเทพฯ.
วรวรรณ สิมะโรจน์. 2554. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับปลาสวยงาม. คู่มือเลี้ยงสัตว์น้ำฉบับสมบูรณ์ สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊ค บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ.
Jessie Sander. 2023. Tropical Fish for Beginners. The spruce PET Vet Reviewed
& Pet Approved เข้าถึงจาก : https://www.thesprucepets.com/tropical-fish-for-beginners
Jeremy Gay. 2005. Environment of fish. The perfect aquarium. Imprint of Octopus Publishing Group Ltd. London.
Your aquarium. 2023. Cold water fish. 51 Best Temperate เข้าถึงจาก : https://youraquarium.co.uk/