การเลี้ยงปลาสวยงามด้วยวิธีที่ถูกต้องและการเอาใจใส่นั้น ไม่ได้การันตีว่าผู้เลี้ยงปลาสวยงามจะประสบความสำเร็จเสมอไป หากปลาสวยงามที่นำมาเลี้ยงเป็นปลาที่ไม่แข็งแรง หรือมีลักษณะบางประการที่บกพร่อง ดังนั้นผู้เลี้ยงควรตรวจสอบปลาสวยงามทุกครั้งก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ
สิ่งที่ต้องพิจารณาสำหรับการเลือกซื้อปลาสวยงามมีด้วยกัน 3 ประการหลักๆคือ
1.ร้านขายปลาสวยงาม ผู้เลี้ยงจะต้องเลือกร้านขายปลาสวยงาม ที่นำปลาสวยงามจากฟาร์ม
ที่ได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดี (Good Aquaculture Practice; GAP) (กรมประมง, 2565) และเป็นร้านขายปลาสวยงามที่น่าเชื่อถือ สามารถให้คำปรึกษาและคำแนะนำเบื้องต้นได้ หากทางร้านสามารถให้ข้อมูลได้ครบถ้วน และมีการเอาใจใส่เป็นอย่างดี ผู้เลี้ยงสามารถมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า ปลาสวยงามของทางร้านจะสมบูรณ์ แข็งแรง และไม่ทำให้ผิดหวังหากซื้อไปเลี้ยง (จุมพล, 2553)
ภาพ : มาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดี (GAP)
ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำอุตรดิตถ์,2565
นอกเหนือจากข้อมูลที่ผู้เลี้ยงต้องสอบถามจากร้านขายปลาสวยงามแล้ว ทางร้านขายปลาสวยงาม
จะสอบถามผู้เลี้ยงด้วยเช่นกัน โดยผู้เลี้ยงจะต้องบอกรายละเอียดให้มากที่สุด อาทิ ขนาดตู้ คุณภาพน้ำ
และระยะเวลาในการบรรจุปลาสวยงามลงถุงพลาสติกเพื่อการขนส่งด้วย (วรวรรณ, 2554)
- รูปร่างลักษณะของปลาสวยงาม การพิจารณารูปร่างลักษณะของปลาสวยงาม
เพื่อให้มั่นใจว่าปลาสวยงามที่ซื้อไปนั้น มีรูปร่างลักษณะ และสีสันตามสายพันธุ์ที่แท้จริง อีกทั้งปลาสวยงามจะต้องไม่มีตำหนิหรือบาดแผลตามลำตัว และสามารถว่ายน้ำได้ โดยไม่เสียการทรงตัว (จุมพล, 2553)
รวมถึงขนาดของปลาสวยงาม เป็นอีกปัจจัยที่ผู้เลี้ยงควรคำนึง ผู้เลี้ยงควรรู้ขนาดของปลาสวยงามที่ต้องการเลี้ยง เนื่องจากปลาสวยงามบางชนิดดูน่ารักในวัยเด็ก แต่อาจเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่เดือน
(ไม่ปรากฏผู้แต่ง, 2553) ฉะนั้นเมื่อปลาสวยงามโตเกินไป ขนาดของตู้จะไม่เหมาะสมกับขนาดของปลาสวยงาม อาจส่งผลให้เกิดสภาวะเครียดกับปลาสวยงามเอง และของเสียภายในตู้จะเกิดการหมักหมม เป็นเหตุให้คุณภาพน้ำไม่เหมาะสมกับตัวปลา
- อุปนิสัยของปลาสวยงาม ปลาสวยงามจากการเพาะเลี้ยง และปลาสวยงามที่มาจากธรรมชาติ
มีอุปนิสัยที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง (โยธิน, 2553) (ตารางที่ 1) หากผู้เลี้ยงยังไม่มีข้อมูลเบื้องต้น หรือข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวข้องกับชีวประวัติของปลาสวยงามที่อยู่ในธรรมชาติ ผู้เขียนแนะนำให้เลี้ยงปลาสวยงาม
ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงก่อน ซึ่งปลาที่เกิดจากการเพาะเลี้ยง ส่วนใหญ่จะมีความแข็งแรงและนิสัยก้าวร้าว
จะลดลงไปมาก อีกทั้งประการหลักของการเลี้ยงปลาสวยงามที่เกิดจากการเพาะเลี้ยง
คือ การไม่รบกวนธรรมชาติ
(อ๊อด, 2554)
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผู้เลี้ยงจะทำการซื้อชีวิตน้อยๆกลับมาครอบครอง ก็ควรไตร่ตรองให้ดีหากซื้อด้วยความชอบ จะเลี้ยงได้ด้วยความรัก และชีวิตเหล่านั้นจะมีความสุข ผู้เลี้ยงก็จะมีความสุขกับการเลี้ยงปลาสวยงามเหล่านั้นด้วย
เรียบเรียงข้อมูลโดย ทศนัย งะหมาด
บรรณานุกรม
กรมประมง. 2565. มาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดี. กลุ่มงานประเมินมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำอุตรดิตถ์.
จุมพล ศรียาภัย. 2553. หลักการในการเลือกซื้อปลาสวยงาม. นิตยาสารอควาเรี่ยมบีส 1(2) :
น.34 – 35
จุมพล ศรียาภัย. 2553. การสังเกตลักษณะต่างๆของปลาสวยงาม. นิตยาสารอควาเรี่ยมบีส 1(2) :
น.34 – 35
ไม่ปรากฏผู้แต่ง. 2553. คิดก่อนซื้อปลาสวยงาม. นิตยาสารโลกสัตว์เลี้ยงว 7(90) : น.89
โยธิน รุงเจริญ. 2553. อุปนิสัยของปลาสวยงาม. คู่มือเลี้ยงปลาทะเล บริษัท ชุนหสาส์น พับลิชชิ่ง จำกัด กรุงเทพฯ.
วรวรรณ สิมะโรจน์. 2554. คำถามสำหรับร้านขายปลาสวยงาม. คู่มือเลี้ยงสัตว์น้ำฉบับสมบูรณ์ สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊ค บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ.
อ๊อด.2554. อุปนิสัยของปลาเลี้ยงและปลาป่า. นิตยาสารอควาเรี่ยมบีส 1(7) :
น.58 – 59