ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี (red tide) และการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชที่สร้างพิษ (harmful algal blooms: HABs) หรือที่เรียกโดยรวมว่าน้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์ทั้งด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรสัตว์น้ำ
น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือขี้ปลาวาฬ คือปรากฏการณ์ที่แพลงก์ตอนพืช เจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำทะเลมีสีที่เปลี่ยนไปตามสีรงควัตถุของแพลงก์ตอนพืชที่เพิ่มมากขึ้นมีลักษณะเป็นตะกอนแขวนลอยในน้ำ เป็นหย่อมหรือเป็นแถบยาวมีแนวตามทิศทางของกระแสลมและคลื่น ส่วนการสะพรั่งของสาหร่ายทะเลที่สร้างพิษคือการที่แพลงก์ตอนพืชกลุ่มที่มีศักยภาพในการสร้างสารพิษมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าเกณฑ์มาตรฐานของแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำให้น้ำทะเลมีสีเปลี่ยนไปจากปกติ อาจเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีหรือไม่ก็ได้
การเกิดเหตุการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในประเทศไทยเริ่มมีรายงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 โดยเกือบทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยโดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน แพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในประเทศไทย คือ ไดโนแฟกเจลเลท ไดอะตอม และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน โดยไดโนแฟลกเจลเลทเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในแง่ของการวิจัยและการเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการสร้างสารชีวพิษ ซึ่งสามารถสะสมในสัตว์กลุ่มที่กรองกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารและถ่ายทอดผ่านห่วงโซ่อาหาร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ หรือเป็นสาเหตุให้ปลาตาย ปัจจุบันมีการรายงานชนิดของแพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุของน้ำเปลี่ยนสี ประมาณ 300 ชนิด ซึ่งเกือบ 1 ใน 4 สามารถสร้างสารชีวพิษได้ สารชีวพิษที่พบว่าสร้างโดยแพลงก์ตอนพืช มี 5 กลุ่ม คือ
- พิษอัมพาต (Paralytic Shellfish Poisoning: PSP) ออกฤทธิ์ต่อปลายประสาท ระบบกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ
- พิษท้องร่วง (Diarrhetic Shellfish Poisoning: DSP) มีฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร
- พิษที่ทำให้ความจำเสื่อม (Amnesic Shellfish Poisoning: ASP) ออกฤทธิ์รบกวนการส่งสัญญาณในสมอง อาจส่งผลให้สูญเสียความทรงจำ
- พิษต่อระบบประสาทรับความรู้สึก (Neurotoxic Shellfish Poisoniing: NSP) ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินหายใจ
- พิษซิกัวเทอร่า (Ciguatera Fish Poisoning: CFP) ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร
สาเหตุและผลกระทบ เมื่อปริมาณสารอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นสาเหตุหลักของการเกิดการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชในแหล่งน้ำ ซึ่งส่วนมากเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและชุมชนบริเวณชายฝั่ง กิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว ร้านอาหารและสถานประกอบการตามแนวชายฝั่งบริเวณแม่น้ำลำคลอง กิจกรรมการประมง แพปลา การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดมลพิษลงสู่ชายฝั่งทะเล ปริมาณสารอาหาร รวมถึงปริมาณแบคทีเรีย โดยผลกระทบจากการเกิดเหตุการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีมีดังนี้ คือ
- ทำความเสียหายต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยเฉพาะปลาหน้าดิน และสัตว์น้ำหน้าดินได้รับอันตรายถึงตายได้
- เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนพิษ ในกรณีเกิดการเพิ่มปริมาณของแพลงก์ตอนพืชที่สร้างชีวพิษ
- ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการประมง กล่าวคือสัตว์น้ำที่จับได้ในบริเวณที่เกิดน้ำเปลี่ยนสีไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำหากมีการปนเปื้อนเกินระดับมาตรฐาน
- ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเมื่อแพลงก์ตอนตายแล้วถูกพัดเข้าฝั่งจะมีกลิ่นคาว สีและกลิ่นทำให้ทัศนียภาพชายหาดเสื่อมโทรม และนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำอาจเกิดอาการคันและระคายเคือง
ข้อควรระวัง
- เกษตรกรที่เลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ๆ ในกระชังใกล้บริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีควร ระมัดระวังสัตว์น้ำที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด หรือควรจับสัตว์น้ำขึ้น เพราะบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำจะต่ำมากในเวลากลางคืน
- งดรับประทานสัตว์น้ำที่จับจากบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับพิษ
- นักท่องเที่ยวหรือประชาชนที่มีอาการแพ้ง่ายบริเวณผิวหนัง ควรงดกิจกรรมทางน้ำ เช่น เล่นน้ำทะเล ดำน้ำ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
http://marinegiscenter.dmcr.go.th/kiosk/km_inner.php
เรียบเรียงโดย นายสุรพงษ์ บรรจงมณี