การเกิดน้ำมันรั่วไหลในน่านน้ำไทยแต่ละครั้งเกิดความเสียหายแตกต่างกันไปตามปริมาณและประเภทของน้ำมัน แหล่งที่เกิด สภาพภูมิประเทศ ระยะห่างจากฝั่ง สภาพแวดล้อมบริเวณนั้น ความลึกของน้ำ ภาวะคลื่นลม น้ำขึ้นน้ำลง ความเร็วและทิศทางลม อุณหภูมิ ระยะเวลา ปริมาณวัตถุที่ลอยน้ำ
ความสำเร็จในการจัดการน้ำมันรั่วขึ้นกับเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสมและเพียงพอ รวมถึงกำลังคนและทักษะความชำนาญของผู้ปฏิบัติการ การจัดลำดับความสำคัญ การสื่อสาร การมีข้อมูลสนับสนุนที่ครบสมบูรณ์เพื่อทำแบบจำลองการคาดการณ์การเคลื่อนตัวของคราบน้ำมัน ความรวดเร็วในการประสานงานและการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสั่งการที่มีประสิทธิภาพ และการวางแผนที่ดีจะส่งผลต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรชายฝั่งทะเล ไม่ว่าจะเป็นความเป็นพิษทั้งเฉียบพลันและระยะยาวต่อสัตว์น้ำ รวมทั้งทรัพยากรชายฝั่งทะเล ได้แก่ ระบบนิเวศปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งการก่อให้เกิดความสกปรกและทำลายทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยว
สถิติการเกิดน้ำมันรั่วไหลในประเทศไทยได้มีการบันทึกโดยกรมเจ้าท่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2516–2556 เกิดขึ้นทั้งหมด 228 ครั้ง ทั้งชายฝั่งทะเล แม่น้ำและคลอง ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และสตูล โดยพบสูงสุดที่กรุงเทพมหานครจำนวน 80 ครั้ง โดยมีเหตุการณ์ใหญ่และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัดเจน 3 ครั้ง ได้แก่
- “EASTERN FORTITUDE” บริเวณแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 15 มกราคม 2545 มีน้ำมันรั่วไหลจำนวน 234 ตัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดระยอง
- “DRAGON 1” บริเวณเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 มีน้ำมันรั่วไหล 150 ตัน
- การรั่วไหลของน้ำมันดิบจากทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล (Single Point Mooring: SPM) ของบริษัท PTTGC 50 ตัน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 และเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา พบเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลและการสำรวจผลกระทบของปริมาณการปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเล 9 ครั้ง โดยผลการวิเคราะห์ปริมาณสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนรวมที่ปนเปื้อนในน้ำทะเลในบริเวณที่พบการรั่วไหลของน้ำมัน พบว่ามีค่าอยู่ในช่วงระหว่าง 0.01–48.07 ไมโครกรัมของไครซีนต่อลิตร ส่วนใหญ่มีค่าสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดโดยกรมควบคุมมลพิษ (2549)
ส่วนพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ในระหว่างปี พ.ศ. 2550–2554 พบเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลและดำเนินการสำรวจผลกระทบของปริมาณการปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเลจำนวน 3 ครั้ง ดังนี้
- บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2551 พบปริมาณการปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน 0.93–41.46 ไมโครกรัมของไครซีนต่อลิตร
- บริเวณแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 พบปริมาณ การปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน 0.25 ไมโครกรัมของไครซีนต่อลิตร
- บริเวณปากคลองปลาร้า จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2553
สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ในระหว่างปี พ.ศ. 2550–2554 พบเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 1 ครั้ง คือ บริเวณระหว่างแนวเกาะเฮและเกาะราชา จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 4 กันยายน 2553 โดยพบปริมาณการปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนน้อยกว่า 0.100–0.268 ไมโครกรัมของไครซีนต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม การพบเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำมันในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้บางส่วน โดยกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานหลัก ยกเว้นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้จำเป็นต้องใช้งบประมาณจากกรมเจ้าท่าในการกำจัดคราบน้ำมัน
สาเหตุน้ำมันรั่วไหลในทะเล ได้แก่
- อุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเลียม บริเวณที่เสี่ยงคือ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเลียม และบริเวณโรงกลั่นและคลังเก็บน้ำมัน รวมทั้งกระบวนการขนถ่ายน้ำมันในทะเล
- การเกิดอุบัติเหตุการเฉี่ยวชนของเรือขนาดต่าง ๆ
- การลักลอบถ่ายเทน้ำมันที่เกิดจากการชะล้างโดยไม่มีการบำบัดของเรือต่างๆ แล้วถูกกระแสน้ำ กระแสลม พัดพาผสมผสานเกิดปฏิกิริยาจนเปลี่ยนเป็นก้อนน้ำมันตามชายหาดท่องเที่ยว (tar ball)
- กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและปิโตรเลียมได้แก่ การขนส่งต่าง ๆ ทั้งทางทะเลและบก ตลอดจนส่วนที่เชื่อมโยง
เอกสารอ้างอิง
http://marinegiscenter.dmcr.go.th/kiosk/km_inner.php
เรียบเรียงโดย นายสุรพงษ์ บรรจงมณี