การเกิดน้ำมันรั่วไหลในน่านน้ำไทยแต่ละครั้งเกิดความเสียหายแตกต่างกันไปตามปริมาณและประเภทของน้ำมัน แหล่งที่เกิด สภาพภูมิประเทศ ระยะห่างจากฝั่ง สภาพแวดล้อมบริเวณนั้น ความลึกของน้ำ ภาวะคลื่นลม น้ำขึ้นน้ำลง ความเร็วและทิศทางลม อุณหภูมิ ระยะเวลา ปริมาณวัตถุที่ลอยน้ำ

  ความสำเร็จในการจัดการน้ำมันรั่วขึ้นกับเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสมและเพียงพอ รวมถึงกำลังคนและทักษะความชำนาญของผู้ปฏิบัติการ การจัดลำดับความสำคัญ การสื่อสาร การมีข้อมูลสนับสนุนที่ครบสมบูรณ์เพื่อทำแบบจำลองการคาดการณ์การเคลื่อนตัวของคราบน้ำมัน ความรวดเร็วในการประสานงานและการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสั่งการที่มีประสิทธิภาพ และการวางแผนที่ดีจะส่งผลต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรชายฝั่งทะเล ไม่ว่าจะเป็นความเป็นพิษทั้งเฉียบพลันและระยะยาวต่อสัตว์น้ำ รวมทั้งทรัพยากรชายฝั่งทะเล ได้แก่ ระบบนิเวศปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งการก่อให้เกิดความสกปรกและทำลายทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยว

สถิติการเกิดน้ำมันรั่วไหลในประเทศไทยได้มีการบันทึกโดยกรมเจ้าท่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2516–2556 เกิดขึ้นทั้งหมด 228 ครั้ง ทั้งชายฝั่งทะเล แม่น้ำและคลอง ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และสตูล โดยพบสูงสุดที่กรุงเทพมหานครจำนวน 80 ครั้ง โดยมีเหตุการณ์ใหญ่และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัดเจน 3 ครั้ง ได้แก่

  1. “EASTERN FORTITUDE” บริเวณแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 15 มกราคม 2545 มีน้ำมันรั่วไหลจำนวน 234 ตัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดระยอง
  2. “DRAGON 1” บริเวณเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 มีน้ำมันรั่วไหล 150 ตัน
  3. การรั่วไหลของน้ำมันดิบจากทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล (Single Point Mooring: SPM) ของบริษัท PTTGC 50 ตัน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 และเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง

          บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา พบเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลและการสำรวจผลกระทบของปริมาณการปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเล 9 ครั้ง โดยผลการวิเคราะห์ปริมาณสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนรวมที่ปนเปื้อนในน้ำทะเลในบริเวณที่พบการรั่วไหลของน้ำมัน พบว่ามีค่าอยู่ในช่วงระหว่าง 0.01–48.07 ไมโครกรัมของไครซีนต่อลิตร ส่วนใหญ่มีค่าสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดโดยกรมควบคุมมลพิษ (2549)

ส่วนพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ในระหว่างปี พ.ศ. 2550–2554 พบเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลและดำเนินการสำรวจผลกระทบของปริมาณการปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเลจำนวน 3 ครั้ง ดังนี้

  1. บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2551 พบปริมาณการปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน 0.93–41.46 ไมโครกรัมของไครซีนต่อลิตร
  2. บริเวณแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 พบปริมาณ การปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน 0.25 ไมโครกรัมของไครซีนต่อลิตร
  3. บริเวณปากคลองปลาร้า จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2553

สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ในระหว่างปี พ.ศ. 2550–2554 พบเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 1 ครั้ง คือ บริเวณระหว่างแนวเกาะเฮและเกาะราชา จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 4 กันยายน 2553 โดยพบปริมาณการปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนน้อยกว่า 0.100–0.268 ไมโครกรัมของไครซีนต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม การพบเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำมันในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้บางส่วน โดยกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานหลัก ยกเว้นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้จำเป็นต้องใช้งบประมาณจากกรมเจ้าท่าในการกำจัดคราบน้ำมัน

สาเหตุน้ำมันรั่วไหลในทะเล ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเลียม บริเวณที่เสี่ยงคือ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเลียม และบริเวณโรงกลั่นและคลังเก็บน้ำมัน รวมทั้งกระบวนการขนถ่ายน้ำมันในทะเล
  2. การเกิดอุบัติเหตุการเฉี่ยวชนของเรือขนาดต่าง ๆ
  3. การลักลอบถ่ายเทน้ำมันที่เกิดจากการชะล้างโดยไม่มีการบำบัดของเรือต่างๆ แล้วถูกกระแสน้ำ กระแสลม พัดพาผสมผสานเกิดปฏิกิริยาจนเปลี่ยนเป็นก้อนน้ำมันตามชายหาดท่องเที่ยว (tar ball)
  4. กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและปิโตรเลียมได้แก่ การขนส่งต่าง ๆ ทั้งทางทะเลและบก ตลอดจนส่วนที่เชื่อมโยง

เอกสารอ้างอิง

http://marinegiscenter.dmcr.go.th/kiosk/km_inner.php

เรียบเรียงโดย นายสุรพงษ์ บรรจงมณี

บทความล่าสุด

22 กุมภาพันธ์ 2024

ปลาเสือเยอรมัน

14 กุมภาพันธ์ 2024

กุ้งมังกรหัวเขียว

6 กุมภาพันธ์ 2024

กระเบนหางขาว