
ปลากระทิงไฟ มีลักษณะลำตัวคล้ายงู ลำตัวสีดำมีแถบสีแดง พาดตามความยาวลำตัว ยกเว้นส่วนท้ายของลำตัว ซึ่งแถบสีแดงจะไม่ค่อยติดต่อกันตลอดทำให้ดูมีลักษณะคล้ายจุดสีแดง ครีบหลัง ครีบหาง ครีบอก และครีบก้นติดต่อกัน มีจะงอยปากยื่นยาว ตัวเต็มวัยมีขนาดใหญ่สุดประมาณ 1 เมตร
ชอบอาศัยอยู่ในโพรงไม้ และรากไม้ บริเวณน้ำนิ่ง และแม่น้ำลำคลอง มีนิสัยก้าวร้าวห่วงถิ่น มักอยู่กันเป็นฝูง และออกหากินในเวลากลางคืน อาหารของกระทิงไฟได้แก่ กุ้งขนาดเล็ก ตัวอ่อนแมลง และปลาขนาดเล็ก พบในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย รวมไปถึงประเทศมาเลเซีย และอินโดเนเซีย
ในปัจจุบันเกิดการเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ ทำให้ประชากรของปลากระทิงไฟในธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปลากระทิงไฟมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ แต่ด้วยพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่รับสั่งให้กรมประมงฟื้นฟู และอนุรักษ์พันธุ์ปลาไทย
หายากไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสุพรรณบุรี จึงได้น้อมรับพระราชกระแสรับสั่ง และเริ่มดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ปลากระทิงไฟมาตั้งแต่ปี 2561 จนสามารถผลิตลูกปลาที่มีความแข็งแรง และมีอัตรารอดสูง สามารถผลิตลูกปลากระทิงไฟได้ 1,500 ตัว ในปี 2563 และ 3,000 ตัว ในปี 2564
อีกทั้งยังมีการนำลูกปลากระทิงไฟที่เพาะพันธุ์ที่ได้จากการเพาะพันธุ์ชุดแรก ขนาด 5-7 เซนติเมตร จำนวน 1,000 ตัว ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และในวันที่ 2 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา กรมประมงมีการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพันธุ์ปลากระทิงไฟ ขนาด 5 เซนติเมตร จำนวน 900 ตัว เพื่อปล่อยเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เอกสารอ้างอิง
กรมประมง. 2565.การเพาะขยายพันธุ์ปลากระทิงไฟสำเร็จ.กรมประมง…ประสบความสำเร็จเพาะพันธุ์
“ปลากระทิงไฟ” สนองพระราชเสาวนีย์พระพันปีหลวง พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายกรมสมเด็จพระเทพฯ เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน.ประชาสัมพันธ์กรมประมง. กรมประมง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าถึงโดย https://www4.fisheries.go.th
สุจินต์ หนูขวัญ และคณะ. 2552.ลักษณะทั่วไปของปลากระทิงไฟ. น.94. 100 ชนิดปลาสวยงามของไทย. สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพันธุ์ไม้น้ำ สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง และคณะ. 2559.ลักษณะการแพร่กระจายของปลากระทิงไฟ. น.78. ปลาในลุ่มทะเลสาบสงขลา. โครงการศึกษารวบรวมข้อมูลสารสนเทศ และแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางทะเล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
บทความล่าสุด

ตอนที่ 3 เทคนิคการเลือกซื้อปลาสวยงาม

ตอนที่ 2 ประเภทของปลาสวยงาม
