ปลาการ์ตูนส้มขาว
(False clown anemonefish)
Amphiprion ocellaris
หลายๆ คนจะรู้จักปลาการ์ตูนจากตัวละครในการ์ตูนอนิเมชั่นเรื่อง “Finding Nemo” จนทำให้เรียกติดปากว่า ปลานีโม่ ปลาการ์ตูน (Clownfish) นั้นมีอีกชื่อหนึ่งว่า Anemonefish แปลว่าปลาดอกไม้ทะเล หรือปลาที่อาศัยในดอกไม้ทะเล ปัจจุบันปลาการ์ตูนพบทั้งหมด 28 ชนิด ส่วนในน่านน้ำไทยพบประมาณ 10 ชนิด
ในธรรมชาติดอกไม้ทะเลเปรียบเสมือนกับบ้าน ปลาการ์ตูนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ถ้าหากขาดดอกไม้ทะเล แม้ว่าดอกไม้ทะเลจะมีเข็มพิษอยู่รอบตัว แต่กลับไม่ทำอันตรายต่อปลาการ์ตูน เนื่องจากปลาการ์ตูนมีเมือกพิเศษหุ้มตัวอยู่ และหากเราสังเกตจะพบว่าชนิดของดอกไม้ทะเลก็จะจำเพาะเจาะจงกับชนิดของปลาการ์ตูนด้วย
ปลาการ์ตูนส้มขาว (False clown anemonefish) เป็นปลาการ์ตูนชนิดหนึ่งที่มีสีสันสวยงาม มีแถบสีขาว 3 แถบพาดบริเวณส่วนหัว ลำตัวและบริเวณหาง โดยขอบของแถบสีขาวเป็นสีดำ ขอบนอกของครีบเป็นสีขาว และขอบในเป็นสีดำ ซึ่งคล้ายกับชุดของตัวตลกในละครสัตว์ ซึ่งถือเป็นลักษณะประจำตัวที่ทำให้ปลาการ์ตูนชนิดนี้เป็นที่จดจำและเรียกว่าปลาการ์ตูน
ปลาการ์ตูนจะอยู่กันเป็นคู่ๆ โดยดอกไม้ทะเล 1 กอจะมีตัวเมีย 1 ตัวเท่านั้น โดยตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้และทำหน้าที่เป็นผู้นำ แต่หากตัวเมียตายไปจะมีตัวผู้ตัวอื่นเปลี่ยนเพศเป็นตัวเมียเพื่อทำหน้าที่สืบพันธุ์ต่อไป แม่ปลาสามารถวางไข่ได้เดือนละ 2 ครั้งๆ ละหลายร้อยฟอง โดยมีพ่อปลาเป็นผู้ดูแลไข่ ใช้เวลาฟักประมาณ 1 สัปดาห์ โดยหลังจากฟัก ตัวอ่อนของปลาการ์ตูนจะล่องลอยไปตามกระแสน้ำเพื่อไปหาดอกไม้ทะเลเป็นที่อยู่อาศัยต่อไป
เนื่องจากปลาการ์ตูนเป็นปลาที่น่ารัก สีสันสวยงาม ทำให้ตลาดมีความต้องการมาก จึงมีการลักลอบจับจากธรรมชาติเป็นจำนวนมาก หน่วยงานหลายแห่งจึงได้ทดลองเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ขึ้นเพื่อลดการจับจากธรรมชาติ โดยศูนย์ชีววิทยาทางทะเลภูเก็ต หรือปัจจุบันคือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต ได้มีงานศึกษาพฤติกรรมการวางไข่และการเจริญเติบโตของปลาปลาการ์ตูนส้มขาว(อุ่นจิต, 2537) สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2537
เอกสารอ้างอิง/อ่านประกอบ
http://www.fisheries.go.th/cf-rayong/index.php?option=com_content&view=category&id=8&Itemid=32
https://en.wikipedia.org/wiki/Amphiprioninae
http://www.aquatoyou.com/index.php/2013-02-20-13-43-43/715-anemonefish
http://www.nemotour.com/knowledge/nemo.htm
เรียบเรียงโดย อดิศร เจริญวัฒนาพร, นลินี ทองแถม และสุรพงษ์ บรรจงมณี