ชีววิทยา
ปลาตีนมีลักษณะลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก มีหัวขนาดใหญ่ ตามี 2 ข้าง มีขนาดใหญ่ และโปนออก ลำตัวมีความยาวได้มากถึง 30 เซนติเมตร ปากโค้ง และเฉียงลงเล็กน้อย ปากมีมุมปากยาว สามารถอ้าได้กว้างมาก ขากรรไกรบนยาวกว่าขากรรไกรล่าง ภายในปากมีฟันเป็นแบบฟันเขี้ยว พบทั้งขากรรไกรบน และขากรรไกรล่าง ฟันที่ขากรรไกรบน มีจำนวน 2 แถว แถวแรกมีฟัน 18-28 ซี่ แถวที่สอง มีฟัน 3-11 ซี่ ส่วนขากรรไกรล่างมีฟันแถวเดียว จำนวนฟัน 16-23 ซี่ มีลักษณะใหญ่กว่าฟันขากรรไกรบน และแข็งแรง รูจมูกมี 2 รู เหงือกมีช่องเปิดแคบ ทำให้สามารถเก็บอากาศไว้ได้นาน ลำตัวมีลักษณะอ่อนนุ่ม มีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุม
ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ครีบหลังตอนแรกสั้นกว่าครีบหลังตอนที่ 2 ส่วนครีบท้องมีลักษณะกลม คล้ายจาน ทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหว ส่วนครีบอกมีลักษณะแตกต่างจากครีบปลาทั่วไป คือ ฐานครีบอกเป็นกล้ามเนื้อ คล้ายต้นแขน ปลายครีบอกเป็นก้านครีบ 16-19 ก้าน ครีบอกนี้ทำหน้าที่สำหรับเดินบนโคลน ส่วนครีบก้น มีก้านครีบ 12-14 ก้าน ครีบหางมีลักษณะกลม และยาว มีจำนวนก้านครีบ 8-12ก้าน
พื้นสีลำตัวของปลาตีน มีสีที่แตกต่างกันในแต่ละส่วน โดยส่วนหัวจะมีสีน้ำตาลอมเขียว บริเวณเหนือเส้นข้างลำตัวจะมีแถบสีดำพาดผ่าน ซึ่งเริ่มจากหลังจาพาดยาวจนถึงโคนหาง ตามลำตัวมีจุดสีน้ำตาลดำ บริเวณท้องมีสีจาง ส่วนครีบหลังมีสีเทาหรือสีน้ำตาลอมดำ ส่วนครีบท้อง และครีบก้นมีมีเทาจางๆ ส่วนครีบอกมีสีน้ำตาลอมเขียว
วงจรชีวิต
ปลาตีน เป็นปลาออกไข่ ไข่มีลักษณะกลม ขนาดเล็ก สีเหลือง และเป็น 2 พู ขนาดไข่ประมาณ 30-50 ไมโครเมตร ทั้งนี้ปลาตีนตัวเมียสามารถวางไข่ได้ในแต่ละครั้ง 8,000-48,000 ฟอง หรือเฉลี่ยประมาณ 19,000 ฟอง/ตัว เมื่อไข่ฟักเป็นตัวลูกปลาตีนจะอาศัยในแอ่งรอบรูเพื่อการเติบโต และเรียนรู้การหาอาหารจากแม่ปลา ก่อนจะย้ายออกจากแอ่งเมื่อโตเต็มที่
การสืบพันธุ์
ปลาตีนเป็นปลาที่สืบพันธุ์ และวางไข่ได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีช่วงผสมพันธุ์ และวางไข่มากในช่วงเดือนพฤษภาคม ในช่วงผสมพันธุ์ปลาตีนจะอาศัยช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด และลงต่ำสุดสำหรับการผสมพันธุ์ และวางไข่ เมื่อเข้าสู่ช่วงผสมพันธุ์ปลาตีนตัวผู้จะขุดรูด้วยปาก ลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร บริเวณปากรูกว้าง และมีกองโคลนพูนสูง เมื่อขุดรูเสร็จปลาตีนตัวผู้จะขึ้นบนบริเวณกองโคลนที่สูงใกล้กับปากรู จากนั้นจะมีพฤติกรรมม้วนหางเป็นมุมฉากกับลำตัว และกางครีบหลังให้เป็นรูปใบพัด ก่อนจะกระโดดขึ้นลง ซึ่งกระโดดได้สูงถึง 15 เซนติเมตรเหนือพื้นโคลน เพื่อดึงดูด และล่อตัวเมียเข้ามาผสมพันธุ์ ตัวเมียที่พร้อมจะผสมพันธุ์ และวางไข่ เมื่อเห็นตัวผู้ที่เหมาะสมก็จะกางครีบหลังให้ตั้งขึ้น และสีบริเวณหัวจะเข้มขึ้น สีขอบตาจะจางลง พร้อมกับวิ่งเข้าหาตัวผู้ จากนั้นตัวผู้ และตัวเมียจะลงในรูพร้อมกัน ก่อนสักพักจะขึ้นมาหายใจ และกลับลงรูอีก ทำอย่างนี้นานหลายครั้ง ก่อนตัวเมียจะออกจากรูมาวางไข่บริเวณแอ่งที่ตัวผู้ขุดไว้หรือแอ่งที่ตัวเมียเองขุดไว้ใกล้กับรูที่มีการผสมพันธุ์
อาหาร
ปลาตีนจะออกหาอาหารในช่วงน้ำลงจนเห็นโคลนตม ทั้งในเวลากลางคืน และกลางวัน ขึ้นอยู่กับน้ำลงในช่วงใด ซึ่งจะค่อยคืบคลานออกมาจากปากรู และมองรอบๆรูสักพัก เพื่อเฝ้าระวังภัย ก่อนจะคลานออกหาอาหารนอกรู ปลาตีนเป็นปลากินทั้งพืช และกินทั้งสัตว์ มีอาหารที่สำคัญ ได้แก่ เศษใบไม้ สาหร่าย ไดอะตอม กุ้ง ปู ปลาขาดเล็ก และแมลงต่างๆ ทั้งนี้ อาหารส่วนมากที่ชื่นชอบจะเป็นสัตว์น้ำชนิดต่างๆเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะปูที่เป็นอาหารหลักของปลาตีน และปูก้ามดาบจัดเป็นชนิดปูที่ปลาตีนจับกินมากที่สุด
แหล่งที่อยู่อาศัย
ปลาตีนพบอาศัยตามป่าชายเลน และบริเวณปากอ่าวหรือปากแม่น้ำที่มีน้ำท่วมถึง พบอาศัยมากในบริเวณที่เป็นดินโคลน ด้วยการขุดรูลึกลงเป็นในดินสำหรับพักอาศัย และหลบซ่อนตัวในช่วงที่มีน้ำขึ้น ส่วนลูกปลาตีนจะยังไม่พบการขุดรู แต่จะอาศัยการมุดหลบซ่อนในดินโคลนในช่วงน้ำขึ้น
เอกสารอ้างอิง
(1) http://pasusat.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0
%B8%B5%E0%B8%99/
(2) http://ampakaen.blogspot.com/2012/09/blog-post_17.html
(3) https://board.postjung.com/665001.html
(4) http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view2.aspx?id=8848
(5) http://ffish.asia/?p=none&o=ss&id=451