โลกใบนี้ยังมีความลับอีกมากมายซ่อนอยู่ โดยหนึ่งในความลึกลับที่มนุษย์ยังค้นพบเพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ คือ โลกใต้ทะเลลึก ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ค้นพบและบันทึกภาพปลาสายพันธุ์ “สเนลฟิช”       ชนิดหนึ่ง เป็นปลาในวงศ์ Liparidae สกุล Pseudoliparis ที่อาศัยอยู่ในน้ำทะเลลึกที่สุดที่ระดับ 8,336 เมตรบริเวณร่องลึก อิซุ-โอกาซาวาระ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น แต่ก็ก่อให้เกิดคำถามว่า ปลาปรับตัวให้อยู่ในความมืดมิดและสภาพแวดล้อมที่มีแรงดันสูง ได้อย่างไร

ที่มาภาพ : https://siweb.dss.go.th/index.php/th/accordion-1/6766-2023-04-07-02-17-52

        คำอธิบายคือ สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในทะเลลึก จะปรับตัวในระดับเซลล์ เพื่อให้พวกมันสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่หนักหน่วงได้

        สัตว์จำพวกกุ้ง-กั้ง-ปู ขนาดยักษ์ (giant amphipod) และ มารีอานา สเนลฟิช จะมีโมเลกุลธรรมชาติที่เรียกว่า “ไพโซไลตส์” (piezolytes) อยู่หนาแน่น เป็นโมเลกุลยับยั้งไม่ให้เซลล์เมมเบรน และโปรตีน ถูกบดขยี้จากแรงดันสูงมหาศาล โมเลกุลเหล่านี้ จะมีปฏิสัมพันธ์กับน้ำทะเล ทำให้โปรตีนภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตมีความยืดหยุ่นตามสภาพแวดล้อม แม้จะเป็นสภาพแวดล้อมที่สุดโต่งมากก็ตาม นอกจากนี้ปลาสเนลฟิช จะไม่มีถุงลม เนื่องจากแรงดันจากภายนอก จะทำให้ถุงลมรั่วได้ อีกการปรับตัวที่สำคัญคือ สเนลฟิชไม่มีเกล็ด แต่มี “ชั้นวุ้น” เพื่อลดและต้านทานความดันที่สูงในพื้นที่ใต้น้ำลึก ซึ่งเป็นการปรับตัวทางสรีรวิทยาอย่างง่าย

 

เอกสารอ้างอิง
https://siweb.dss.go.th/index.php/th/accordion-1/6766-2023-04-07-02-17-52
https://www.bbc.com/thai/articles/cyjrwmek4m8o
https://www.pptvhd36.com/news /ต่างประเทศ/193799