ในสัตว์น้ำมีสาเหตุมาจากการได้รับวิตามินซีจากอาหารที่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้อุณหภูมิของน้ำที่สัตว์น้ำอาศัยอยู่จะมีผลต่อความรุนแรงของการขาดวิตามินซีเนื่องจากปริมาณความต้องการวิตามินซีของร่างกายจะแปรผันตามอุณหภูมิของน้ำ กล่าวคือ ความต้องการวิตามินซีของร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่ออุณหภูมิในน้ำสูง จึงทำให้สัตว์น้ำมีโอกาสเกิดการขาดวิตามินซีได้มากกว่า รวมถึงแสดงอาการขาดวิตามินซีได้รุนแรงกว่าสัตว์น้ำที่อาศัยในอุณหภูมิน้ำที่ต่ำกว่า 

ผลของการขาดวิตามินซี

ผลที่เห็นได้ชัดเกี่ยวข้องกับความเจริญที่ผิดปกติของโครงสร้างของร่างกายเนื่องจากกระบวนการสังเคราะห์คอลลาเจนที่บกพร่อง ดังนั้นจะพบความรุนแรงและอาการผิดปกติที่ชัดเจนในลูกปลาวัยอ่อนมากกว่าปลาโตเต็มวัยเพราะเป็นช่วงอายุที่กำลังเจริญเติบโต และส่วนใหญ่จะเห็นชัดเจนในการเลี้ยงปลาสำหรับบริโภค ความผิดปกติที่พบได้จากการขาดวิตามินซี คือ แนวกระดูกสันหลังที่ผิดปกติ ที่อาจสังเกตได้จากลักษณะภายนอกประกอบไปด้วยการโค้งงอไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาจนผิดปกติหรือหลังคด (scoliosis) การแอ่นเกินปกติหรือหลังแอ่น (lordosis) และการโค้งนูนมากกว่าปกติหรือหลังค่อม (kypnosis) หรืออาจพบกระดูกสันหลังแตกร้าวจนหักที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการหลังหัก (broken back syndrome) โดยมีผลต่อการว่ายน้ำของปลาทำให้ไม่สามารถแย่งอาหารกับปลาตัวอื่นที่เลี้ยงรวมกันได้ส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโตที่ลดลง นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้ลักษณะส่วนหัวและกรามผิดรูป และกระดูกกะโหลกมีความทึบรังสีน้อยกว่าปลาที่ปกติทั่วไปเมื่อถ่ายภาพรังสี และเมื่อเคาะบริเวณกะโหลกจะมีเสียงสะท้อนลักษณะจำเฉพาะ
ในบางกรณีของภาวะขาดวิตามินซีในปลาอาจจะไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายจากภายนอกได้ชัดเจน แต่สามารถวินิจฉัยด้วยการขริบตรวจเนื้อเยื่อซี่เหงือกด้วยการเตรียมสไลด์สดซึ่งจะพบกระดูกอ่อนของซี่เหงือกที่คดงอจากการตรวจวินิจฉัยด้วยกล้องจุลทรรศน์หรือการศึกษาจุลพยาธิวิทยาภายใต้กล้องจุลทรรศน์จากตัวอย่างซี่เหงือก นอกจากนี้ยังอาจพบลักษณะกระดูกเหงือก (gill arch) ที่บิดเบี้ยว และแผ่นปิดเหงือกที่ผิดรูปหรือกร่อนจากการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะส่งผลทำให้ซี่เหงือกที่มีความบอบบางที่โดยปกติจะถูกปกคุลมด้วยแผ่นปิดเหงือก จึงทำให้มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อจุลชีพรวมถึงเศษตะกอนในน้ำจนอาจทำให้เกิดได้รับการบาดเจ็บของซี่เหงือก

นอกจากนี้ยังสามารถพบลักษณะครีบกร่อน การตกเลือดที่ผิวหนังและอวัยวะภายในร่างกาย โลหิตจาง การซ่อมแซมและการหายของบาดแผลเกิดขึ้นได้ช้า ความต้านทานโรคต่ำและติดเชื้อได้ง่ายซึ่งทำให้อัตราการป่วยและอัตราการตายที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการฟักไข่ที่ลดลงในพ่อแม่พันธุ์ รวมถึงกลุ่มอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น สูญเสียความอยากอาหารซึ่งทำให้อัตราการเจริญเติบโตต่ำและส่งผลต่ออยู่รอดของสัตว์ สัตว์มีอาการอ่อนแรง ท้องมาน ตาโปนร่วมกับเลือดออก
การขาดวิตามินซียังส่งผลต่อการเจริญเติบโต การสร้างคอลลาเจน และกระบวนการลอกคราบของสัตว์กลุ่ม crustaceans ส่งผลทำให้เกิดการลอกคราบที่ไม่สมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น ในกุ้งทะเล (penaeid shrimp) จะพบลักษณะรอยโรคจุดเนื้อตายสีดำ (melanized lesions) อยู่ใต้เปลือกเนื่องจากการสังเคราะห์คอลลาเจนที่บกพร่องส่งผลทำให้ลอกคราบไม่สำเร็จและตายระหว่างการลอกคราบ ซึ่งเรียกว่า black death syndrome

การวินิจฉัยภาวะขาดวิตามินซี 

ผลของการขาดวิตามินซีในปลาส่งผลทำให้เกิดการผิดรูปของแนวกระดูกสันหลังจากปกติ การวินิจฉัยอาจใช้การสังเกตแนวกระดูกสันหลังจากภายนอกร่วมกับการถ่ายภาพทางรังสีทั่วไปโดยจะพบลักษณะของแนวกระดูกสันหลังผิดรูปชนิด scoliosis และ lordosis ที่พบได้บ่อยเมื่อเกิดภาวะขาดวิตามินซี แต่อย่างไรก็ดีการผิดรูปของแนวกระดูกสันหลังในปลาอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือการได้รับการบาดเจ็บที่บริเวณดังกล่าว เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถพบความทึบรังสีของกระดูกที่ลดลงในปลาที่ขาดวิตามินซีโดยเฉพาะบริเวณส่วนกะโหลกศีรษะเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างโปรตีนในกระดูก (osteoid) ที่ผิดปกติ

เอกสารอ้างอิง

VPN Magazine. (2021). จะรู้ได้อย่างไรว่า สัตว์น้ำกำลังอยู่ในภาวะขาก Vitamin C บทความนี้มีคำตอบ. สืบค้นจาก                                 

              https://web.facebook.com/photo/?fbid=4751151298228699&set=a.142464909097384