วัฏจักรน้ำ หมายถึงมวลน้ำที่กระจายตามแหล่งต่างๆ มีการหมุนเวียนเปลี่ยนสถานะและตำแหน่งที่อยู่ระหว่างพื้นน้ำ บรรยากาศ และพื้นดินตลอดเวลา หากอยู่ในสภาพเป็นน้ำทะเลจำนวนมากจะเกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลมีผลต่อแผ่นดินและสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ซึ่งปัจจุบันพบว่า การใช้เชื้อเพลิงฟอซซิลจำนวนมากก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เกิดภาวะโลกร้อน อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติทางกายภาพของน้ำทะเลที่สำคัญ ได้แก่
-
ความเค็มของน้ำทะเล
เกิดจากเกลือหรือแร่ธาตุต่างๆ ที่ละลายอยู่ในมวลน้ำ แร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำทะเลในปริมาณมาก ได้แก่ โซเดียมและคลอรีน รองลงไป ได้แก่ แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ แคลเซียม โปแตสเซียม หน่วยวัดความเค็มของน้ำทะเลคือ “ส่วนต่อพันส่วน” (ppt) โดยปกติความเค็มของน้ำทะเลมีค่าเฉลี่ยประมาณ 35 ส่วนต่อพันส่วน และจะแปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฟ้า อัตราการระเหย ตำแหน่งที่ตั้ง และระยะทางที่ห่างจากปากแม่น้ำหรือชายฝั่ง
-
อุณหภูมิ
เป็นปัจจัยหลักที่กำหนดการกระจายชนิดและความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเล สัตว์ในทะเลส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่สามารถปรับอุณหภูมิในร่างกายตามสภาพแวดล้อมได้ อุณหภูมิของน้ำทะเลจึงมีบทบาทต่อเซลล์และขบวนการในร่างกายของสัตว์ทะเลอย่างมาก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในน้ำทะเลแม้จะเป็นช่วงที่แคบๆ ก็จะมีผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล
-
ความเป็นกรดด่างน้ำทะเล
ส่วนมากน้ำทะเลมีค่าความเป็นกรดด่างที่ pH 8 หากน้ำทะเลบริเวณใดมีการละลายคาร์บอนไดออกไซด์มากน้ำทะเลก็จะมีค่าเป็นกรดมาก และหากบริเวณใดที่มีอัตราการสังเคราะห์แสงในน้ำทะเลสูงหรือมีการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำมาก ก็จะทำให้ค่าเป็นด่างมากขึ้น
-
ความหนาแน่นของมวลน้ำทะเล
จะมีปฏิภาคตรงกับค่าความเค็มของน้ำทะเล และมีปฏิภาคกลับกับอุณหภูมิของน้ำทะเล โดยมวลน้ำที่มีความหนาแน่นน้อยจะลอยเหนือมวลน้ำที่มีความหนาแน่นมาก โดยช่วงน้ำทะเลที่มีการเปลี่ยนความหนาแน่นเรียกว่า Pycnocline
เอกสาอ้างอิง
https://km.dmcr.go.th/c_263/d_256