บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก จัดว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชีวภาพแห่งหนึ่งของอ่าวไทย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำเพชรบุรี ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำท่าจีน พื้นที่ชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นโคลนที่เกิดจากการตกตะกอน ทับถมโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำ ทำให้เกิดการสะสมปริมาณสารอินทรีย์สารสูง และเป็นแหล่งประมงที่สำคัญ ความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญๆ เช่น แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่ และปลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตะวันตก

พรรณพืช 
ชนิดของพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่บริเวณชายอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก เช่น ปากแม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำแม่กลอง ปากแม่น้ำเพชรบุรี และตามพื้นที่บริเวณแนวชายฝั่งทะเลมีลักษณะเป็นป่าเดี่ยว และป่าผสม พันธุ์ไม้ชนิดเด่น ได้แก่ แสมขาว (Avicennia alba) แสมทะเล (Avicennia marina) โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata) และโกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata) และมีพันธุ์ไม้อื่นๆ ถึง 29 ชนิด

แพลงก์ตอน 
ประชาคมแพลงก์ตอนพืช ประกอบด้วย 88 สกุล ได้แก่ ไซยาโนแบคทีเรีย 8 สกุล ไดโนแฟลกเจลเลท 16 สกุล ซิลิโคแฟลกเจลเลท 2 สกุล ไดอะตอม 56 สกุล ยูกลีนอยด์ 2 สกุล และสาหร่ายสีเขียว 4 สกุลประชาคมแพลงก์ตอนพืชในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ฤดูแล้ง) มีความหลากหลายในระดับสกุลสูงกว่าในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ฤดูฝน) ความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืชทั้งหมดในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พบมีค่าต่ำกว่าความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืชในอ่าวไทยตอนในที่มีผู้รายงานไว้ในอดีตที่ผ่านมา ไดอะตอมสกุลเด่นที่พบ ได้แก่ Thalassionema spp., Chaetoceros spp., Thalassuosira spp., Bacteriastrum spp., Rhizosolenia spp., Leptocylindrus spp., Pseudonitzschia spp. และ Nitzschia spp. ไดโนแฟลกเจลเลทชนิดเด่นที่พบ คือ Ceratium furca และไซยาโบแบคทีเรียกลุ่มเด่นที่พบ ได้แก่ Planktolyngbya spp., Oscillatoria spp. และ Pseudanabaena spp.ประชาคมแพลงก์ตอนสัตว์ในบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ถึงแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ประกอบด้วยสัตว์ 48 กลุ่ม จาก 14 ไฟลัม ซึ่งแพลงก์ตอนสัตว์กลุ่มเด่นที่พบหนาแน่นทุกบริเวณได้แก่ Cyclopoid copepods, Calanoid copepods และ Harpacticoid copepods นอกจากนี้ยังพบแพลงก์ตอนสัตว์กลุ่มที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยา ได้แก่ ตัวอ่อนไส้เดือนทะเล หนอนธนู และกลุ่ม gelatinous organism (รวมกลุ่ม Hydromedusae Siphonophore และ Ctenophore) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ล่าที่สำคัญ และกลุ่มที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจได้แก่กลุ่มเคย (Pelagic shrimp) ซึ่งประกอบด้วย เคยหยาบ (Acetes spp.) เคยสำลี (Lucifer spp.) และเคยตาดำ (Mysid spp.) รวมทั้งกลุ่มตัวอ่อนของสัตว์น้ำต่างๆ เช่น ตัวอ่อนหอยฝาเดียวและหอยสองฝา ลูกกุ้ง ลูกปู และลูกปลา

สัตว์พื้นทะเล 
ประชาคมพื้นทะเลขนาดใหญ่ องค์ประกอบของสัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่ที่พบมีความหลากชนิดและความหนาแน่นต่างกันในแต่ละบริเวณในแต่ละฤดู พบสัตว์พื้นทะเล 2-39 ชนิด โดยบริเวณชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาครมีความหลากหลายต่ำที่สุด ขณะที่บริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดเพชรบุรีและบริเวณห่างฝั่งมีความหลากหลายของชนิดมากที่สุด ไส้เดือนทะเลที่พบ เป็นกลุ่มที่ฝั่งตัวอยู่กับที่และพวกที่เคลื่อนที่เป็นอิสระเป็นกลุ่มเด่น เช่น Sigambra spp., Lumbrineris spp., Magelona spp., Nepthys spp., Family Orbiniidae Family Capitellidae, Glycera spp., Sternaspis spp., Syllis spp., และ Mediomastus spp. เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบพวกกุ้งขนาดเล็กเช่นกัน กุ้งเคยและกุ้ง (Metapenaeopsis spp.) ในปริมาณน้อย ส่วนพวกดาวเปราะพบเฉพาะบริเวณชายฝั่งเพชรบุรี ซึ่งมีมวลน้ำ ความเค็มสูง หอยสองฝาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่พบได้ เช่น หอยลาย (Paphia undulate) ซึ่งความหนาแน่นสูงบริเวณชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาครและเพชรบุรี จำนวน 121-177 ตัวต่อตารางเมตร ส่วนหอยสองฝาสกุล Tellina spp. พบกระจายอยู่ทั่วไป

ประชาคมปลาและทรัพยากรประมง 
ประชาคมปลา พบความหลากหลายทางชีวภาพของปลารวม 114 ชนิด จากการที่ระบบนิเวศน้ำกร่อยเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ปลาหลายกลุ่มจึงพึ่งพิงแหล่งน้ำกร่อยสำหรับเป็นที่อยู่และหาอาหาร และบางกลุ่มจะอพยพผ่านบริเวณน้ำกร่อยเพื่อวางไข่ กลุ่มปลาน้ำกร่อยที่สำคัญ ได้แก่ วงศ์ปลากระตัก (Engraulidae) วงศ์ปลากระบอก (Mugilidae) วงศ์ปลาหัวตะกั่วหรือหัวแข็ง (Atherinidae) วงศ์ปลาเข็ม (Hemiramphidae) วงศ์ปลาแป้นแก้วหรือเกร็ดข้าวเม่า (Ambassidae) วงศ์ปลาเห็ดโคน (Leiognthidae) วงศ์ปลาดอกหมาก ( Gerreidae) วงศ์ปลาบู่ (Gobiidae) วงศ์ปลาตะกรับ (Scatophagidae) วงศ์ปลากุเรา (Polynemidae) วงศ์ ปลาจวด (Sciaeinidae) วงศ์ปลาใบโพธิ์ (Drepanidae) วงศ์ปลาข้างตะเภา (Teraponidae) วงศ์ปลายอดม่วง (Cynoglossidae) และวงศ์ปลาวัว (Triacanthidae) ส่วนกลุ่มปลาทะเลได้แก่ วงศ์ปลาแป้น (Leiognathidae) วงศ์ปลากระบอก (Mugilidae) วงศปลากดทะเล (Ariidae) วงศ์ปลาแป้นแก้ว (Ambassidae) และวงศ์ปลาจวด (Sciaenidae) ซึ่งกลุ่มปลาทะเลบางชนิดจะพบปลาวัยอ่อนหรือปลาวัยรุ่นที่เข้ามาหาอาหารในบางฤดูกาล

สัตว์ทะเลหายาก 
การพบโลมาและวาฬในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนพบโลมาและวาฬได้ตลอดทั้งปี บริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทราและชลบุรี พบว่ามีโลมาและวาฬจำนวน 4 ชนิด ที่พบบ่อย คือ โลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin: Orcaella brevirostris) โลมาหลังโหนก/โลมาเผือก (Indo-Pacific Hump-backed dolphin: Sousa chinensis) โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Finless porpoise: Neophocaena phocaenoides) และวาฬบรูด้า (Bryde’s whale: Balaenoptera edeni)

ภาวะคุกคามและการจัดการ 
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าการเสื่อมสภาพของระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบและเกิดภาวะคุกคามต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ดังประเด็นปัญหาหลักที่พบในพื้นที่ดังนี้
1. การทำประมงเกินกำลังผลิต จากความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีมากขึ้น อีกทั้งการจับที่ไม่คำนึงถึงปริมาณ ขนาดและอายุของสัตว์น้ำ โดยทุกคนถือว่าตนเองมีสิทธิในการใช้ประโยชน์เป็นแบบเสรี ทำให้สัตว์น้ำบางชนิดลดจำนวนลงหรือต้องสูญพันธุ์ไปและอาจมีสัตว์กลุ่มใหม่เข้ามาแทน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มปลา พบปลากระบอกลดลงมีปลากระเมาะเข้ามาแทน กลุ่มปูซึ่งเดิมเป็นปูม้า (Portunus pelagicus) แต่ปัจจุบันมีปูกระตอยซึ่งอยู่ในวงศ์ Portunidae ถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชชน์ทดแทนปูม้า ปูทะเลหรือปูดำ (Scylla spp.) ส่วนกลุ่มหอยพบว่าหอยหลอด (Solen spp.) ซึ่งเป็นสัตว์น้ำขึ้นชื่อของดอนหอยหลอดจังหวัดสุทรสงครามมีปริมาณลดลง

  1. การเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งทะเล ปัจจุบันแนวชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตกกำลังประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเกือบทุกพื้นที่ บางพื้นที่มีการกัดเซาะที่รุนแรงมาก (มากกว่า 10 เมตรต่อปี) การกัดเซาะชายฝั่งเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเลของสัตว์น้ำต่างๆ โดยตรง ทั้งในบริเวณที่เป็นหาดโคลน และป่าชายเลน
  2. การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำในบริเวณอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ภาวะคุกคามที่สำคัญในบริเวณนี้ คือภาวะปริมาณสารอาหารสูง (Eutrophication) ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยน้ำเสียของชุมชน อุตสาหกรรม และการเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยสารอินทรีย์ที่สำคัญ ปัจจัยที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ปริมาณออกซิเจนละลาย โดยพบว่าในบริเวณปากแม่น้ำมักพบปริมาณออกซิเจนละลายต่ำลงได้บ่อยขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากปริมาณออกซิเจนส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ถูกพัดพามาจากแหล่งต้นน้ำ คือ แม่น้ำสายหลักต่างๆ ที่ไหลลงสู่พื้นที่อ่าวไทยตอนบน
  3. การเปลี่ยนแปลงคุณภาพดินตะกอนในบริเวณอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของอนุภาคดินตะกอนเป็นผลเสียต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดินโดยเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบดินตะกอนและการสะสมปริมาณอินทรีย์สารย่อมส่งผลกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและประชากรสัตว์ทะเลหน้าดินและทรัพยากรประมง โดยเฉพาะหอยสองฝา เช่น หอยแครง หอยหลอด และหอยลาย

ประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับการมีส่วนได้เสียในวงกว้างจากพื้นที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ บริบทในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาจึงเป็นเรื่องท้าทาย ที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจสภาพปัญหาแบบองค์รวม และที่สำคัญคือ จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการอย่างจริงจังของทุกภาคส่วน

เอกสารอ้างอิง

https://km.dmcr.go.th/c_218/d_2556#.Um99gHBHKg8

 

 

 

บทความล่าสุด

7 ธันวาคม 2023

กั้งตั๊กแตน

22 พฤศจิกายน 2023

ปลากระทิงไฟ