เป็นเกาะหนึ่งทางด้านตะวันตกของจังหวัดพังงา อยู่ในพื้นที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ห่างจากฝั่งประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีความยาวตามแนวเหนือใต้ 15.4 กิโลเมตร ความกว้างตามแนวตะวันออกถึงตะวันตก 9.7 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 92 ตารางกิโลเมตร หรือ 57,500 ไร่ เกาะพระทอง มีระบบนิเวศที่หลากหลายและเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ ด้านตะวันออกเป็นทะเลแคบๆ ที่คั่นเกาะพระทอง มีระบบนิเวศที่หลากหลายและเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ และคั่นเกาะพระทองออกจากแผ่นดินใหญ่ ตลอดแนวตั้งแต่ทิศเหนือจรดใต้เป็นแนวป่าชายเลน ถัดจากป่าชายเลนเข้าด้านในตัวเกาะเชื่อมต่อด้วยป่าพรุและป่าดิบชื้น ประกอบด้วย พรรณไม้ป่านานาชนิด ถัดเข้าไปกึ่งกลางตัวเกาะจนถึงแนวป่าชายหาดฝั่งตะวันตกเป็นพื้นที่ทุ่งหญ้าและป่าเสม็ดกว้างใหญ่ ต่อจากป่าชายหาดเป็นแนวหาดทรายเปิดสู่ทะเลอันดามัน เกาะพระทองจึงมีระบบนิเวศที่หลากหลายและมีความเชื่อมโยงกัน ส่งผลให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสูงมาก ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก และสัตว์ป่าที่หลากหลาย

ภาพ ที่ตั้งเกาะพระทอง

ที่มาภาพ: https://km.dmcr.go.th/wp-content/uploads/2013/08/PhraThong02.jpg

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม

มีหลายปัจจัย เช่น สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ดิน แหล่งน้ำต่างๆ ส่งเสริมให้เกิดสังคมพืชในรูปแบบและลักษณะต่างๆ บนเกาะ ที่สำคัญได้แก่ ป่าชายเลน (mangrove forest) ป่าพรุ (swamp forest) และป่าชายหาด (beach forest) พื้นที่ป่าชายเลนบนเกาะพระทองส่วนใหญ่อยู่ตลอดแนวริมฝั่งทะเลทางด้านตะวันออกของเกาะ และบริเวณตามแนวคลองต่างๆ ภายในเกาะ เช่น คลองชาด คลองลัดนางจันทร์ และคลองเหมือง เป็นต้น ในอดีตป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์มาก โดยมีพื้นที่ป่าชายเลนไม่ต่ำกว่า 22,000 ไร่ จากการเปิดให้มีการสัมปทานป่าชายเลนของภาครัฐในช่วงปี พ.ศ. 2492-2546 ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนบนเกาะพระทองลดลงเหลือประมาณ 8,000 ไร่ และมีสภาพเสื่อมโทรม โดยในปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนโดยชุมชน หน่วยงานของรัฐ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วในปัจจุบันสภาพป่าชายเลนบนเกาะพระทองอยู่ในสภาพที่กำลังฟื้นตัว ซึ่งจากการสำรวจพบพันธุ์พืชในป่าชายเลน 21 ชนิด พันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่พบ ได้แก่ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ แสม เป้ง พังกา โปรง ฝาด ลำพู ต้นเม่า ถั่วดำ ถั่วแดง ตะบูน ต้นตีนเป็ด เป็นต้น

เกาะพระทอง

มีพื้นที่ป่าพรุกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณพื้นที่ทางด้านตะวันออกและด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ กินเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 9,400 ไร่ โดยจะพบป่าพรุในบริเวณร่องน้ำที่เกิดขึ้นระหว่างสันดอนทรายที่ เป็นบริเวณที่มีการทับถมของเศษซากอินทรีวัตถุค่อนข้างสูง มีทั้งป่าพรุที่เพิ่งเริ่มต้น ป่าพรุดั้งเดิม และป่าพรุเปลี่ยนสภาพ สามารถจำแนกป่าพรุบนเกาะพระทอง ตามการเกิดได้ 3 แบบ กล่าวคือ 1) ป่าพรุที่เกิดจากการการสะสมของตะกอนทรายที่ถูกกระแสน้ำทะเลและกระแสลมพัดพาเข้ามาในบริเวณชายฝั่งก่อให้เกิดเป็นแอ่งน้ำ ป่าพรุประเภทนี้พบได้ในบริเวณบ้านสนมืดและบ้านหินกอง โดยในป่าพรุประเภทนี้จะพบไม้ประเภทไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น เช่น พะยอม หลาวโอน และตะเคียนทราย เป็นต้น 2) ป่าพรุที่เกิดจากลำคลองที่ตื้นเขินและถูกปิดกั้น ป่าพรุประเภทนี้พบได้บริเวณตอนกลางของเกาะ โดยเฉพาะบริเวณใกล้คลองชาด ในป่าพรุประเภทนี้จะพบสังคมพืชประเภทหญ้า กก และไม้เสม็ด และ 3) ป่าพรุที่เกิดบริเวณพื้นที่แอ่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ป่าพรุประเภทนี้พบได้ทั่วไปในบริเวณพื้นที่เหมืองเก่า และบริเวณสระน้ำที่ชาวบ้านขุด และถูกทิ้งล้างไว้ หรือเรียกว่า “นบ” เช่น นบกง นบเกาะชาด เป็นต้น ไม้ในบริเวณป่าพรุประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นไม้เสม็ดขาว ดังนั้น บางครั้งจึงมีลักษณะเป็นพรุเสม็ด ภายในป่าพรุจะมีความหลากหลายของพันธุ์ไม้ต่างๆ มากมาย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เสม็ด หลุมพี หวาย พะยอม ตะเคียนทราย หลาวชะโอน กะพ้อ ขนุนป่า เลือดควาย หว้าหิน หมากลิง เป็นต้น นอกจากนี้ป่าพรุยังเป็นที่หาอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น นกตะกรุม นกเงือก เป็นต้น รวมทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนของกวางด้วย

ป่าชายหาด

บนเกาะพระทองกระจายอยู่ทางด้านตะวันตกของตัวเกาะ โดยมีความยาวประมาณ 14 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังพบป่าชายหาดทางด้านทิศเหนือของเกาะอีกด้วย ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายหาดบางส่วนของเกาะพระทองได้กลายเป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านไปแล้ว ในพื้นที่ป่าชายหาดจะพบพืชประเภท สนทะเล รักทะเล พะยอม ผักบุ้งทะเล เป็นต้น ส่วนพื้นที่ที่เรียกกันว่าทุ่งหญ้าสีทอง หรือทุ่งหญ้าสะวันนา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ถัดเข้ามาจากชายฝั่งตะวันตกของเกาะพระทอง พื้นที่นี้มีลักษณะเป็น “ทุ่งหญ้าผสมป่าเสม็ด” มีเนื้อที่ 1 ใน 3 ของพื้นที่เกาะทั้งหมด พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยหญ้าที่มีความสูงระหว่าง 0.5-1 เมตร นอกจากหญ้าแล้ว ยังมีพืชอื่นๆ อีก เช่น กก เสม็ด พุดทุ่ง โคลงแคลง หนามเคล็ด เป็นต้น ปัจจุบันพื้นที่ทุ่งหญ้าบนเกาะพระทองมียังคงมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยในช่วงฤดูฝนทุ่งหญ้าต่างๆ เหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ

หญ้าทะเล

พบหญ้าทะเลจำนวน 7 ชนิด แพร่กระจายเป็นหย่อมๆ บริเวณทางตอนเหนือและด้านตะวันออกของเกาะ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 4,550 ไร่ หญ้าทะเลเหล่านี้มักอยู่บริเวณแนวสันทรายใกล้กับป่าชายเลนหรือบริเวณปากคลอง ส่วนใหญ่เป็นแนวแคบๆ ประมาณ 100-300 เมตรจากฝั่ง ยกเว้นตอนเหนือของเกาะพระทองมีแนวหญ้าทะเล 300-500 เมตรจากฝั่ง หญ้าทะเลแต่ละชนิดขึ้นอยู่ในบริเวณที่แตกต่างกัน นอกจากนี้พื้นที่ที่มีหญ้าทะเลที่เป็นอาหารที่สำคัญของพะยูน และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด

แนวปะการัง

เกาะพระทองมีแนวปะการังเพียงเล็กน้อย กระจายอยู่รอบตัวเกาะทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเกาะ บริเวณเกาะปลิงใหญ่ และเกาะปลิงน้อย เนื่องจากบริเวณดังกล่าวได้รับอิทธิพลของตะกอนจากฝั่งในระดับที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งปะการังที่พบจะเป็นกลุ่มที่สามารถทนต่อปริมาณตะกอนที่ไหลลงสู่แนวปะการังค่อนข้างสูง เช่น ปะการังโขด ปะการังวงแหวน เป็นต้น

สัตว์น้ำ

ในอดีตเกาะพระทองมีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำชายฝั่งสูงมาก ชาวบ้านสามารถหากินบริเวณชายฝั่งได้ตลอดเวลา แต่ปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวเริ่มลดลง แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ยังคงสามารถหาสัตว์ชายฝั่งได้ สัตว์น้ำชาฝั่งที่มีการพบมากในบริเวณเกาะพระทองได้แก่ หอยชักตีน ปลิงทะเล ปูดำ ปูแสม ปูเปี้ยว ปูลม กุ้ง และปลาชนิดต่างๆ จากการสำรวตจพบว่า บริเวณพื้นที่เกาะพระทองมีปลาทะเลทั้งสิ้น 97 ชนิด โดยพบในแหล่งหญ้าทะเล 58 ชนิด พบในบริเวณป่าชายเลน 56 ชนิด โดยปลาจำนวน 17 ชนิด อาศัยอยู่ทั้งในบริเวณหญ้าทะเลและป่าชายเลน สำหรับปลาเศรษฐกิจที่พบ ได้แก่ปลากระบอก ปลาหางแข็ง ปลากะรัง ปลากะพง และปลาใบปอ

เกาะพระทอง เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติสูง เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของตัวเกาะที่วางขนานกับชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ มีกระแสน้ำจากแม่น้ำลำคลองหลายสายพัดพาตะกอนและเศษซากอินทรีย์และอนินทรีย์วัตถุสะสม ทำให้บริเวณดังกล่าวอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เกื้อหนุนให้เกิดระบบนิเวศป่าชายเลน นอกจากนี้ยังพบแหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง ซึ่งเป็นกลุ่มของระบบนิเวศที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหลบภัยที่สำคัญของสัตว์น้ำนานาชนิด รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน เต่าทะเล เป็นต้น ส่วนพื้นที่บนเกาะยังพบป่าพรุ บึง หนองน้ำ ทุ่งหย้าสีทอง และป่าชายหาด อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งทำรังวางไข่ของสัตว์ป่าหายากอีกหลายชนิด เช่น นกตะกรุม กวางป่า จากการสำรวจพบพืชและสัตว์ที่อาศัยในบริเวณเกาะพระทองจำนวนไม่น้อยกว่า 850 ชนิด จึงเห็นได้ว่าพื้นที่เกาะพระทองมีความหลากหลายทั้งในเชิงระบบนิเวศและจำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิต จัดเป็นพื้นที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมที่ควรแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่งอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

เอกสารอ้างอิง

https://km.dmcr.go.th/c_218/s_229/d_2589#.Um99lXBHKg8