ในทะเลไทยฝั่งอ่าวไทย มีเกาะเล็กเกาะน้อยมากมายทั้งที่มีและไม่มีผู้คนอาศัย โดยเกาะที่อยู่ห่างไกลจากชายฝั่งมากที่สุดต้องยกให้ “เกาะโลซิน” แห่งจังหวัดปัตตานี ซึ่งนอกจากจะไกลชายฝั่งแล้วก็ยังเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย แต่กลับมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง ทั้งในด้านความมั่นคงและอาณาเขตทางทะเล ด้านพลังงาน และด้านทรัพยากรธรรมชาติ
“เกาะโลซิน” ที่เรียกกันนี้ แท้จริงแล้วมีลักษณะเป็นกองหินใต้ทะเล คล้ายกับภูเขาหินขนาดย่อมที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ยอดภูเขาโผล่พ้นน้ำขึ้นมาประมาณ 10 เมตร ฐานกองหินใต้ผืนน้ำกว้างประมาณ 50 ตารางเมตร ไม่มีหาดทรายไม่มีต้นไม้ใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงประภาคารตั้งโดดเด่นเป็นจุดสังเกตแก่นักเดินเรือเท่านั้น แต่เกาะเล็กๆ นี้กลับมีความสำคัญมหาศาลในด้านความมั่นคงและอาณาเขตทางทะเล โดยเมื่อแต่ละประเทศเริ่มมีการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งของตนออกมา 200 ไมล์ทะเล ตามอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ทำให้เขตเศรษฐกิจจำเพาะของหลายๆ ประเทศทับซ้อนกัน โดยเฉพาะทะเลในเขตน่านน้ำรอยต่อไทย-มาเลเซียนั้นมีพื้นที่ทับซ้อนกันอย่างกว้างขวางและเมื่อสำรวจพบว่าใต้ทะเลบริเวณนี้เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล ทั้งไทยและมาเลเซียต่างก็อ้างสิทธิในพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว จนเกิดข้อโต้แย้งกันขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว “เกาะโลซิน” ได้กลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญ โดยเป็นจุดอ้างอิงในการประกาศน่านน้ำอาณาเขตจากเกาะโลซินออกไป 200 ไมล์ทะเล ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างก๊าซธรรมชาติ โดยไทยยืนยันว่าได้ก่อสร้างประภาคารติดไฟส่องสว่างไว้บนเกาะหินแห่งนี้เพื่อแสดงอาณาเขตมาเนิ่นนาน อีกทั้งตามอนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1958 ที่ไทยเป็นสมาชิกในอนุสัญญาดังกล่าว ได้ระบุความหมายของเกาะว่า คือแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ ซึ่งมีความหมายรวมถึงเกาะที่เป็นหิน หรือกองหินโผล่น้ำเข้าไปด้วย โลซินจึงได้กลายเป็นเกาะสุดท้ายของประเทศไทย ที่ทำให้ฝ่ายมาเลเซียต้องยอมจำนนและที่สุดใน พ.ศ.2522 ไทยและมาเลเซียจึงเจรจาตกลงกำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลดังกล่าว ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area หรือ JDA) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,250 ตร.กม. โดยตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการร่วมกันแล้วแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่ง เป็นเวลา 50 ปี แม้จะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพียงน้อยนิด แต่โลกใต้ทะเลของเกาะโลซินนั้นยิ่งใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านทรัพยากรทางทะเล มีความอุดมสมบูรณ์ของปะการังและฝูงปลาไม่แพ้ที่ใดๆ โดยพื้นที่กว่า 100 ไร่ใต้ทะเลของเกาะโลซินนั้นเต็มไปด้วยปะการังนานาชนิด ตั้งแต่บริเวณน้ำตื้น (2-10 ม.) ที่ประกอบไปด้วยปะการังแข็งกลุ่มเล็กๆ บริเวณน้ำลึกปานกลาง (10-20 ม.) ส่วนใหญ่เป็นดงปะการังเขากวางซึ่งมีจำนวนมากจนเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักร สลับกับปะการังช่องเล็กและปะการังรูปทรงแบบก้อนชนิดต่างๆ และแนวปะการังน้ำลึก (20-40 ม.) เป็นปะการังอ่อนและกัลปังหาที่เต็มไปด้วยสีสันอันงดงาม
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของโลกใต้ทะเลและความสำคัญของเกาะแห่งนี้ ทำให้มีความพยายามที่จะเสนอเกาะโลซินให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเล ตาม มาตรา 20, 23 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์และคุ้มครองความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรใต้ทะเล และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องและร่วมกันจัดทำร่างมาตรการทรัพยากรทางทะเลเกาะโลซินอยู่หลายครั้ง
วันที่ 16 มกราคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้พิจารณาร่างกฎกระทรวง จำนวน 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ประกอบด้วย ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้หมู่เกาะกระตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวและจะเข้าสู่กระบวนการประกาศ ต่อไป ส่วนร่างกฎกระทรวงกำหนดให้เกาะโลซิน ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้รับข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาก่อนเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้ง
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. กล่าวว่า ได้ยกร่างกฎกระทรวงพร้อมกำหนดมาตรการในการจัดการพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง พร้อมผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวได้ถูกเสนอผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นว่ากฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ ได้ผ่านกระบวนการคิดและกลั่นกรองและยอมรับจากประชาชน ตลอดจนนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิมาอย่างรอบคอบแล้ว ตนจะเร่งรัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ติดตามและดำเนินการตามกระบวนการประกาศเป็นกรณีเร่งด่วน ต่อไป
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า พบความสมบูรณ์ของแนวปะการัง มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ นอกจากนี้ ยังเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะบริเวณเกาะโลซิน ที่พบฉลามวาฬ กระเบนราหู ปลาอีกว่า 116 ชนิด เป็นต้น ทั้งนี้ กรมอยู่ระหว่างการเร่งสำรวจพื้นที่อื่น ๆ ที่เหมาะสมและจำเป็นที่จะต้องประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เพื่อการคุ้มครองและป้องกันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
เรียบเรียงโดย บุณฑิกา อินทะริง
ที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9630000097180
: https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2532475