การปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลที่กำลังส่งผลสะท้อนกลับมายังมนุษย์

ไมโครพลาสติก (Microplastics) คืออะไร?

ไมโครพลาสติกคือ ชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาด 1 นาโนเมตร ถึง 5 มิลลิเมตร สามารถดูดซึมสารพิษที่มีอยู่ในทะเล ดังนั้น ยิ่งอยู่ในน้ำทะเลนาน ไมโครพลาสติกจะมีความเป็นพิษเพิ่มสูงขึ้น สิ่งมีชีวิตตั้งแต่ต้นห่วงโซ่อาหารอย่างเช่นแพลงตอนสัตว์ในทะเล จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับสิ่งเหล่านี้เข้าไป ส่วนสิ่งมีชีวิตท้ายห่วงโซ่อาหารอย่างเช่นมนุษย์ อาจได้รับสารพิษตกค้างได้เช่นกัน

แม้ขณะนี้จะยังไม่มีผลการศึกษาผลกระทบจากไมโครพลาสติกในคนอย่างชัดเจน แต่มีการวิจัยผลกระทบในสัตว์น้ำอย่างเช่น ปลา กุ้ง และหอย พบว่ามีไมโครพลาสติกสะสมในตัวสัตว์ขนาดเล็ก และทำให้เนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารเป็นแผล และยับยั้งการเจริญเติบโตของสัตว์ ดังนั้น หากเราบริโภคเนื้อสัตว์ที่มี    ไมโครพลาสติกปนเปื้อนก็มีโอกาสสะสมการก่อโรคต่างๆ ขึ้นได้ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในคน เพียงแต่ระยะเวลาที่จะแสดงอาการอาจจะช้ากว่าสัตว์ขนาดเล็ก

ที่มาภาพ : https://www.posttoday.com/economy/600402

นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกยังเป็นวัสดุที่ไม่ละลายน้ำ พวกมันจึงยังคงปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล เมื่อมนุษย์นำน้ำทะเลมาผลิตเป็นเกลือเพื่อปรุงอาหาร ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการที่ไมโครพลาสติกจะปนเปื้อนมากับเกลือด้วย การสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไมโครพลาสติก รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจะรักษาสมดุลในระบบนิเวศเอาไว้ให้ได้ ก่อนที่ภัยร้ายที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เองจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเรา

เอกสารอ้างอิง

https://www.posttoday.com/economy/600402

https://www.dmcr.go.th/detailLib/3095/