ข้อมูลนักท่องเที่ยว
สินค้าที่ระลึก
ทัวร์เสมือนจริง
บทความน่ารู้
ข่าวสาร
เกี่ยวกับเรา
ติดต่อเรา
ปูที่พบบริเวณป่าชายเลนทั่วไป
หน้าแรก
›
ฐานข้อมูลองค์ความรู้
›
ปูที่พบบริเวณป่าชายเลนทั่วไป
บริเวณป่าชายเลนถือว่าเป็นระบบนิเวศที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิต เพราะเป็นที่เพาะพันธุ์และเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำ รวมไปถึงเป็นแหล่งหากินของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด ทำให้บริเวณป่าชายเลนมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูง ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์หน้าดิน รวมไปถึงสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งสัตว์ที่พบอาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลน จะคืบคลานหรือเกาะหรือขุดรูอยู่ตามพื้นดิน รวมทั้งพวกที่อยู่ในน้ำจะต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อการอยู่รอด เนื่องจากต้องประสบกับสภาวะต่างๆที่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นประจำหรือต้องอยู่ในสภาพไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตโดยทั่วไป เช่น สภาวะที่ทำให้มีการสูญเสียน้ำออกจากลำตัวและสภาพอุณหภูมิสูง สภาพที่มีปริมาณออกซิเจนค่อนข้างต่ำของดินเลน และการเปลี่ยนแปลงความเค็ม ตัวอย่างปูที่พบในป่าชายเลน ได้แก่
1. ปูก้ามดาบ (Fiddler crab)
ชื่อสามัญ : ปูก้ามดาบ หรือ ปูผู้แทน
ชื่อสามัญ (อังกฤษ) : FIDDLER CRAB
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Uca vocans
ชื่อวงศ์ : Ocypodidae
ลักษณะทั่วไป
เป็นปูขนาดเล็ก กระดองมีรูปร่างเป็นสีเหลี่ยมคางหมู ด้านหน้าโค้งมน ด้านข้างปลายสอบเข้าหากัน ด้านหลังนูนออกเล็กน้อย นัยน์ตามีก้านตายาว ซึ่งเคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่ปูต้องการ เมื่อพบอันตรายจะหดก้านตาเข้าเก็บในเบ้าตา ปากของปูอยู่ใต้ตา มีฟันกราม 6 คู่ และรยางค์เล็กคล้ายเขี้ยวอีกหนึ่งคู่ ปูหายใจด้วยเหงือก โดยดูดออกซิเจนจากน้ำ ซึ่งไหลเข้าทางช่องที่อยู่หน้าก้ามหนีบ ทางน้ำออกจะอยู่บริเวณข้าง ๆ รยางค์ปาก ปูก้ามดาบมีขาคู่แรกที่เรียกว่า ก้ามปู ตัวผู้มีก้ามขวาขนาดใหญ่เมื่อปูยกก้ามนี้ชูขึ้นลงมีลักษณะคล้ายคนสีซอ การชูก้ามปูเป็นการเรียกและล่อตัวเมียให้เข้ามาผสมพันธุ์ด้วย สีของกระดองเป็นสีส้มปนน้ำตาล ก้ามขวาที่มีขนาดใหญ่ของตัวผู้มีปลายก้ามหนีบสีขาวนวล โคนสีแดงอมชมพู
ถิ่นอาศัย : พบตามป่าไม้ชายเลน ป่าไม้โกงกาง ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน
อาหาร : กินอินทรีย์สารและซากสัตว์
ขนาด : ความยาวประมาณ 2-4 ซ.ม.
2. ปูแสมก้ามส้ม (Orange-claw marsh crab)
ชื่อสามัญ (ไทย) : ปูแสมก้ามส้ม
ชื่อสามัญ (อังกฤษ) : Orange-claw marsh crab
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Parasesarma plicatum
(Latreille, 1806)
ชื่อวงศ์ : Grapsidae
ลักษณะทั่วไป
พบอาศัยอยู่ในป่าชายเลน พื้นดิน และดินปนทราย ขุดรูตามริมตลิ่งที่น้ำท่วมไม่ถึง ลักษณะคล้ายแฟลต มีขนาดเล็ก 4-5 เซนติเมตร กระดองสี่เหลี่ยม ลำตัวสีน้ำตาล ก้ามสีส้ม พบทั่วไปในพื้นที่ป่าชายเลน ช่วงเวลาน้ำลด
3. ปูแสมก้ามแดง (Chiromanthes eumolpe)
ชื่อที่เรียก : ปูแสมก้ามแดง
ชื่ออื่นๆ : ปูแสมเปี้ยว
ชื่อสามัญ : Thai vinegar crab
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Chiromanthes eumolpe
ชื่อวงศ์ : Grapsidae
ลักษณะทั่วไป
เป็นปูแสมขนาดกลาง กระดองกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยม ก้ามสีแดง ขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นป่าชายเลนหรือริมคันนาน้ำเค็ม กินเศษอินทรีย์ต่างๆ เป็นอาหาร พบชุกชุมและมีการแพร่กระจายทั่วไป ปูแสมก้ามแดงระยะเจริญพันธุ์น้ำหนักตัวเฉลี่ย 24.20+11.10 กรัม ความยาวกระดอง 2.99+0.43 เซนติเมตร ชอบกินใบพืชป่าชายเลนเป็นอาหาร
4. ปูเปี้ยวก้ามขาว
ชื่อสามัญ : ปูเปี้ยวก้ามขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Uca perplexa
ลักษณะทั่วไป
เป็นปูก้ามดาบอีกชนิดหนึ่ง มักอาศัยอยู่บริเวณชายหาดโคลนปนทราย ริมป่าชายเลน จะเป็นที่อยู่อาศัยของปูเปี้ยวหรือปูก้ามดาบ ซึ่งมีก้ามข้างหนึ่งขนาดใหญ่ใช้โบกพัดแสดงความเป็นเจ้าของอาณาเขตของตน ตามปกติปูก้ามดาบจะขุดรู และออกมาจากรูหาอาหารช่วงเวลาน้ำลง และฝังตัวอยู่ในรูเมื่อน้ำทะเลขึ้น
5. ปูเปี้ยวปากคีบ
ชื่อสามัญ : ปูเปี้ยวปากคีบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Uca forcipata
ลักษณะทั่วไป
ปูก้ามดาบอีกชนิดหนึ่ง มีกระดองสีดำก้ามสีน้ำตาลอมม่วง ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่เป็นดินโคลนแยกจากกลุ่มของปูเปี้ยวก้ามขาว ทั้งนี้เป็นการลดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างปูประเภทเดียวกัน
บทความล่าสุด
3 ธันวาคม 2024
ตอนที่ 2 ประเภทของปลาสวยงาม
2 ธันวาคม 2024
ตอนที่ 1 ประวัติและความสำคัญของปลาสวยงาม
24 มิถุนายน 2024
ภาวะขาดวิตามินซี (Hypovitaminosis C)