ชื่อไทย: แมงกะพรุนพระจันทร์

ชื่ออังกฤษ  moon jellyfish

ชื่อวิทยาศาสตร์: Aurelia sp.

ชีววิทยา

          แมงกะพรุนพระจันทร์ มีลักษณะลำตัวใส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25-40 เซ็นติเมตร เป็นสัตว์ที่ล่องลอยไปกับกระแสน้ำ มีเข็มพิษซึ่งมีไว้สำหรับจับแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ตัวอ่อนหอย ตัวอ่อนปู เป็นต้น แมงกะพรุนพระจันทร์เป็นอาหารที่โปรดปรานของเต่ามะเฟือง (Leatherback turtle)

วงจรชีวิต

วงจรชีวิตของแมงกะพรุนพระจันทร์มีทั้งแบบอาศัยเพศและแบบไม่อาศัยเพศ โดยแบ่งเป็น 5 ระยะดังนี้

  1. ระยะหลังจากการปฏิสนธิที่เป็นตัวอ่อนว่ายน้ำได้เรียกว่า พลานูลา (planula)

  2. ระยะที่เป็นตัวอ่อนเกาะอยู่กับที่เรียกว่าระยะโพลีป (polyp)

  3. ระยะที่โพลีป เจริญเติบโตเป็นคล้ายถ้วยซ้อนกันเป็นชั้นๆ เรียกว่าระยะสโตรบิลา (strobila)

  4. ระยะที่ตัวอ่อนหลุดออกมาแต่ตัวมีลักษณะเป็นแฉกเรียกว่าระยะอีไฟลา (ephyra)

  5. ระยะที่เป็นแมงกะพรุนพระจันทร์ตัวเต็มวัยเรียกว่าระยะเมดูซา (medusa)

การสืบพันธุ์

แมงกะพรุนมีการสืบพันธุ์ 2 แบบ ได้แก่ แบบอาศัยเพศและแบบไม่อาศัยเพศ

หลังจากไข่และน้ำเชื้อของแมงกะพรุนผสมกันแล้ว เรียกการสืบพันธุ์แบบนี้ว่า การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศหลังจากนั้นตัวอ่อนก็จะพัฒนาโดยมีขนรอบตัว เรียกระยะนี้ว่าระยะพลาลูล่า (planula) ซึ่งจะลงพื้นและคลานไปหาจุดที่เหมาะสม และพัฒนารูปร่างให้คล้ายกับดอกไม้ทะเล ปากและหนวดอยู่ด้านบน ซึ่งเรียกระยะนี้ว่า ระยะโพลิป (polyp) ซึ่งก็จะมีการแตกหน่อออกไปเป็นชั้นๆ เรียกระยะนี้ว่า ระยะสโตรบิล่า (strobila) ออกไปเป็นแมงกะพรุนขนาดเล็ก ซึ่งเรียกระยะนี้ว่าระยะอีไฟร่า (ephyra)  หลังจากนั้นก็จะเริ่มคว่ำลำตัวโดยเอาหนวดลงด้านล่าง เรียกระยะนี้ว่าระยะเมดูซ่า (medusa) เติบโตจนเป็นแมงกะพรุนขนาดใหญ่และเริ่มวงจรใหม่อีกครั้ง

อาหาร

กินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร

แหล่งที่อยู่

พบตามชายฝั่งทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ทั้งยังพบในที่มีความเค็มต่ำ ทะเลสาบน้ำจืด บริเวณน้ำกร่อยอุณหภูมิที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยคือ 9-19 องศาเซลเซีย