กุ้งมังกร (Palinuridae)
ชื่อสามัญภาษาไทย กุ้งมังกรประเหลือง
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ YELLOW-RING SPINY LOBSTER
ชื่อวิทยาศาสตร์ Panulirus ornatus
ชื่อไทยอื่นๆ กุ้งหัวโขนประเหลือง
วงจรชีวิต/ลักษณะทั่วไป
มีลักษณะต่างจากกุ้งทั่วไป คือ เป็นกุ้งที่มีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะส่วนหัวที่มีขนาดใหญ่ และมีลวดลายและสีสันสวยงาม มีลำตัวรูปทรงกระบอก หนวดคู่ที่ 2 ยาวกว่าความยาวของลำตัวมาก โคนหนวดคู่ที่สองไม่อยู่ติดกัน บนแผ่นกลางหนวดมีหนามขนาดใหญ่อยู่ปลายสุด 1 คู่ อยู่ตรงแนวกลางของโคนหนวดคู่ที่ 1 โคนละ 1 หนาม ใช้สำหรับป้องกันดวงตา ไม่มีก้ามเหมือนกุ้งจำพวกอื่น ปล้องท้องเรียบไม่มีร่องขวางกลางปล้อง ขอบท้ายของปล้องท้องมีลายสีครีมขวางทุกปล้อง หางลักษณะแผ่เป็นหางพัด พบทั่วไปตามหาดโคลนบนพื้นทะเล พบกระจายพันธุ์ตามทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลกกุ้งมังกรเมื่อเทียบกับกุ้งอื่น ๆ จัดเป็นกุ้งที่เติบโตช้ามาก การเจริญเติบโตใช้วิธีการลอกคราบในขณะที่อยู่ในวัยอ่อน จะมีการลอกคราบบ่อยครั้ง คือประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง กว่าจะโตเต็มที่ต้องใช้เวลาประมาณ 5-7 เดือน
การสืบพันธุ์
การออกไข่แต่ละครั้งจะมีปริมาณไข่ประมาณ 200,000-1,000,000 ฟอง ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะฟักเป็นตัว ในระยะวัยอ่อนจะมีชีวิตแบบแพลงก์ตอนขนาด 1 มิลลิเมตร ล่องลอยอยู่ในกระแสน้ำ จนอายุได้ 8-9 เดือน จึงจะกลายเป็นกุ้งวัยอ่อนขนาด 3-4 เซนติเมตร จะเข้ามาอาศัยหลบภัยในกอสาหร่ายทะเล, หญ้าทะเล หรือแนวปะการังนาน 2 ปี ถึงจะแข็งแรงพอช่วยตัวเองได้ และเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 7-10 ปี
ถิ่นอาศัย/ แหล่งที่พบ
กุ้งมังกรประเหลืองอยู่ตามโพรงหิน โพรงปะการัง แต่อยู่ในระดับน้ำลึก และกระแสน้ำค่อนข้างเชี่ยว พบทั่วไปตามบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย
อาหาร
กุ้งมังกรประเหลืองกินหอยและสัตว์น้ำที่อยู่ตามพื้นทะเล
ขนาด
ความยาวประมาณ 20-40 ซ.ม.