ทำความรู้จัก Phylum Cnidaria

Phylum Cnidaria (ไฟลัมไนดาเรีย) เป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์เข็มพิษ (Nematocyst) ซึ่งใช้สำหรับการล่าเหยื่อและป้องกันตัว สิ่งมีชีวิตในไฟลัมนี้ประกอบด้วยแมงกะพรุน ดอกไม้ทะเล ไฮดรา และปะการัง ซึ่งปะการังถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างยิ่ง


ปะการังและบทบาทของแนวปะการัง

แนวปะการังจัดเป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก และมีบทบาทสำคัญหลายด้าน ได้แก่

  • เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด เช่น ปลา กุ้ง หอย ปลาดาว และสัตว์ทะเลอื่น ๆ

  • เป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนชายฝั่งและอุตสาหกรรมประมง

  • ทำหน้าที่เป็นแนวกันคลื่นตามธรรมชาติ (Natural breakwaters) ช่วยลดความรุนแรงของคลื่นและการกัดเซาะชายฝั่ง

  • เป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ


ปัญหาและความเสื่อมโทรมของปะการัง

ผลกระทบจากธรรมชาติ

  • การระบาดของดาวมงกุฏหนาม (Crown-of-thorns starfish) ซึ่งเป็นสัตว์นักล่าที่กินเนื้อเยื่อปะการังโดยตรง

  • การเกิดพายุและคลื่นลมแรง ทำให้กิ่งก้านปะการังเสียหายหรือหักพัง

  • การลดลงของระดับน้ำทะเลในบางช่วง ทำให้ปะการังได้รับแสงแดดมากเกินไปและเกิดความเครียด

ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์

  • คราบน้ำมันและน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ปะการังขาดอากาศหายใจ โดยเฉพาะเมื่อคราบน้ำมันติดบนก้อนปะการังที่โผล่พ้นน้ำขณะน้ำลง

  • การเก็บปะการังเป็นของที่ระลึก ส่งผลให้แนวปะการังลดลง

  • กิจกรรมท่องเที่ยวในแนวปะการังที่ไม่ระมัดระวัง ทำให้โครงสร้างปะการังเสียหาย

  • การทำประมงเกินกำลัง และการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง เช่น การใช้ระเบิดหรือไซยาไนด์ ทำให้ปะการังถูกทำลายและสูญเสียพื้นที่อาศัยของสัตว์ทะเล

  • การพัฒนาแนวชายฝั่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของน้ำ เกิดการสะสมของตะกอนดิน ทับถมแนวปะการัง จนปะการังตายในที่สุด


การอนุรักษ์แนวปะการัง

การอนุรักษ์ปะการังเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูและคงความสมบูรณ์ของแนวปะการังให้คงอยู่เป็นมรดกทางธรรมชาติสำหรับคนรุ่นต่อไป


จัดทำโดย

นักวิชาการประมงปฏิบัติการ
ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน


เอกสารอ้างอิง

  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • กองสารสนเทศและเทคโนโลยีการสำรวจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

บทความล่าสุด