โกงกางใบใหญ่ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhizophora mucronata) เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Rhizophoraceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้ต้นขนาดกลาง – ขนาดใหญ่ สูง 15 – 20 เมตร ราก ระบบรากแก้ว โคนต้นมี รากค้ำจุนหรือรากหายใจ ออกมาเหนือโคนต้น ยาว 2 – 7 เมตร เพื่อช่วยพยุงลำต้น รากที่โคนต้นหรือรากค้ำจุน ลำต้น แตกแขนงระเกะระกะ รากแตกจากโคนต้นและค่อยๆโค้งจรดดินไม่หักเป็นมุมฉากดังเช่นรากค้ำจุนของโกงกางใบเล็ก ลำต้น ตั้งตรง ไม้เนื้อแข็ง เรือนยอดรูปกรวยคว่ำแคบๆเปลือกหยาบ แตกเป็นร่องตื้นๆตามยาวและตามขวาง เป็นตารางทั่วไป เปลือกสีเทาคล้ำถึงดำ ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบคู่ล่างๆ จะหลุดร่วงไปเหลือกลุ่มใบที่ปลายกิ่ง ใบรูปรีถึงรีกว้าง อวบใหญ่ ขนาด 5 – 13 X 8 – 24 เซนติเมตร ปลายมนหรือแหลม มีติ่งแหลมเล็กและแข็ง โคนรูปลิ่ม เส้นกลางใบด้านล่างสีเขียว เส้นแขนงใบเห็นไม่ชัด แผ่นใบหนา มีจุดเล็กๆสีดำกระจัดกระจายทั่วไปทางด้านล่าง ก้านใบยาว 2.5 – 6 เซนติเมตร สีเขียว หูใบสีเขียวอมเหลือง สีของหลังใบจะมีสีเขียวอ่อน ท้องใบเป็นสีเหลือง ลักษณะเด่นมาก เมื่อมองระยะไกล ดอก สมบูรณ์เพศ ดอกช่อ ช่อดอกเกิดในกลุ่มเรือนใบ หรือ ออกตามง่ามใบที่ใบติดอยู่ หรือ ร่วงไปในเวลาต่อมา ก้านช่อดอกยาวกว่าก้านใบ ความยาว 3 – 7 เซนติเมตร แตกแขนงสั้นๆ มีดอกตั้งแต่ 2 – 12 ดอก ก้านดอกยาว 0.4 – 1 เซนติเมตร ดอกตูมรูปไข่ มีใบประดับรองรับที่ฐานดอก โคนใบประดับติดกัน ปลายแยกเป็น 2 แฉก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่ หรือ รูปสามเหลี่ยม ขนาด 5 – 7 X 1.2 – 1.5 เซนติเมตร ปลายกลีบจะโค้งลงเกือบแนบก้านดอก กลีบดอก 4 กลีบ ร่วงง่ายรูปใบหอก ยาว 0.6 – 1 เซนติเมตร สีขาว หรือ เหลืองอ่อน ขอบกลีบมีขนหนาแน่น มีเกสรเพศผู้ 8 อัน ผล คล้ายรูปไข่ ยาวแคบลงทางส่วนปลายผล เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 – 3.5 เซนติเมตร ยาว 3 – 8 เซนติเมตร งอกเป็นฝักตั้งแต่อยู่บนต้น ผิวฝักหยาบ สีน้ำตาลอมเขียว ลำต้นใต้ใบเลี้ยงรูปทรงกระบอก เรียว ค่อนข้างตรง ยาว 30 – 80 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4 – 1.9 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลมยาว ผิวเป็นมัน สีเขียว มีตุ่มขรุขระทั่วไป เปลือกลำต้นสีเทาเข้มถึงดำ แตกเป็นร่อง รอบ ๆ โคนต้นมีรากค้ำยันเพื่อพยุงลำต้นให้แข็งแรง สามารถดำรงต้นได้ในดินโคลน ใบเดี่ยว ไม่ผลัดใบ เรียงเป็นคู่ตรงข้าม ใบสีเขียวอ่อนมีจุดดำที่ก้านใบ ใบเกล็ดสีแดง หุ้มยอดอ่อน ดอกเป็นดอกช่อ ออกที่ง่ามใบ กลีบเลี้ยงสีเหลืองอ่อน มี 4 กลีบ กลีบดอกสีขาว 4 กลีบ มีกลิ่นหอม ผลเดี่ยว ทรงคล้ายลูกข่าง สีน้ำตาล ผิวของผลหยาบสาก ผลงอกตั้งแต่อยู่บนต้น เป็นฝักตรงสีเขียวอ่อน ส่วนที่ติดกับขั้วมีกลีบเลี้ยงต้นโกงกางใบใหญ่ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร (บ้างก็ว่าสูงประมาณ 30-40 เมตร) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเหนือคอ ราก เมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะตรง ด้านรับแสงจะมีกิ่งก้านมาก เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเทา เปลือกต้นค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ ส่วนเปลือกในเป็นสีส้ม ในกระพี้เป็นสีเหลืองอ่อน และแก่นเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้ฝักโดยตรง โดยใช้ฝักแก่ที่ยังสมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงเข้ามาทำลาย โดยดูได้จากบริเวณรอยต่อของฝักกับผลจะมีปลอกสีขาวอมเหลืองหุ้มอยู่ ถ้าหากมีขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และเป็นสีเหลืองแสดงว่าฝักแก่สมบูรณ์แล้ว หรือจะเก็บฝักที่ร่วงหล่นลงน้ำก็ได้ เพราะถ้าฝักแก่สมบูรณ์จะลอยน้ำได้ เมื่อได้ฝักมาแล้วก็ให้นำมาปลูกในทันที เพราะถ้าเก็บไว้นานเท่าไหร่ความสามารถในการงอกก็จะลดลงไปเรื่อยๆ สามารถพบได้ตามชายฝั่งทะเลตะวันออกของแอฟริกา ทวีปเอเชีย ภูมิภาคมาเลเซีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงหมู่เกาะตองกา สำหรับในประเทศไทยจะพบต้นโกงกางใบใหญ่ได้มากตามริมคลอง ริมชายฝั่งทะเลที่มีน้ำเค็มท่วมถึงเป็นระยะเวลานาน โดยจะชอบขึ้นในบริเวณที่เป็นดินเลนปนทราย และมักจะขึ้นอยู่ในบริเวณที่ชิดติดกับแม่น้ำ

รากโกงกางใบใหญ่ มีรากเป็นแบบค้ำจุนขนาดใหญ่ โดยจะงอกจากลำต้นออกเป็นจำนวนมาก ดูไม่เป็นระเบียบ เพราะแตกแขนงระเกะระกะ และมีลักษณะเป็นทรงเรือนยอดรูปกรวยคว่ำแบบแคบ ๆ

ใบโกงกางใบใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับตรงข้ามกัน โดยใบแต่ละคู่จะออกแบบสลับทิศทางกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปใบมนค่อนไปทางรูปหอก ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแข็งเล็ก ๆ ส่วนฐานใบสอบเข้าหากันคล้ายกับรูปลิ่ม หน้าใบเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนหลังใบเรียบเกลี้ยง เป็นสีเขียวอมเหลือง และยังมีจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ เห็นได้ชัดเจนอยู่ทั่วหลังใบ โดยใบมีความกว้างประมาณ 5-13 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-18 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตร และยังมีหูใบสีแดงเข้มยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร หุ้มใบอ่อนไว้

ดอกโกงกางใบใหญ่ ออกดอกเป็นช่อแบบ Cymes ในแต่ละช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกประมาณ 2-12 ดอก มีสีขาวอมเหลือง มีกลีบอยู่รอบดอก 4 กลีบ ลักษณะของกลีบรอบกลีบดอกเป็นรูปไข่ โคนกลีบติดกัน ส่วนกลีบดอกเป็นรูปใบหอก มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ขอบของกลีบดอกจะมีขนยาวขึ้นปกคลุมอยู่ และดอกจะมีเกสรตัวผู้จำนวน 8 ก้าน ยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร

ผลโกงกางใบใหญ่ ผลเป็นแบบ Drupebaceous มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมคล้ายไข่ โดยจะเป็นผลแบบที่งอกก่อนผลจะร่วง ในส่วนใต้ใบเลี้ยงในเมล็ดจะงอกยื่นยาวออกมาคล้ายกับฝัก หรือที่เรียกว่า “ฝักโกงกางใบใหญ่” เมื่อผลหรือฝักแก่แล้วจะมีความยาวประมาณ 36-90 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางส่วนที่โตสุดประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร

สรรพคุณของโกงกาง

  1. ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด (ใช้เปลือกต้นต้มกับน้ำดื่ม)
  2. ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง หรือจะใช้น้ำจากเปลือกต้นนำมากินเป็นยาแก้ท้องร่วงได้เช่นกัน (เปลือกต้น) ช่วยแก้บิด บิดเรื้อรัง ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้น้ำจากเปลือกต้นนำมากินก็ได้เช่นกัน (เปลือกต้น)
  3. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาสมาน (เปลือกต้น)
  4. เปลือกต้นนำมาตำใช้เป็นยาพอกช่วยห้ามเลือดได้ดีและช่วยสมานแผล หรือจะใช้ใบอ่อนเคี้ยวหรือตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกบาดแผลสดและห้ามเลือดก็ได้เช่นกัน (ใบ, เปลือก) บ้างก็ว่าน้ำจากเปลือกต้นก็ใช้ชะล้างแผลและห้ามเลือดได้เช่นกัน (น้ำจากเปลือกต้น)
  5. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างรักษาบาดแผลเรื้อรัง หรือจะใช้น้ำจากเปลือกต้นก็ได้ (เปลือกต้น, น้ำจากเปลือกต้น)
  6. ประโยชน์ไม้โกงกางที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการนำมาใช้ทำเป็นฟืนและถ่านเกรดคุณภาพดี ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากเป็นไม้ที่ให้ความร้อนสูงและนาน (ให้ค่าความร้อนประมาณ 6,600-7,200 แคลอรี) อีกทั้งยังมีขี้เถ้าน้อยและไม่เกิดสะเก็ดไฟเมื่อนำมาใช้งานอีกด้วย
  7. เปลือกของต้นโกงกางมีสารแทนนินและฟีนอลจากธรรมชาติสูงมาก อีกทั้งยังมีราคาถูกที่สุด ซึ่งสารดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำยา ทำหมึก ทำสี ใช้ในการฟอกหนัง ใช้ทำกาวสำหรับติดไม้ เป็นต้น
  8. เปลือกมีน้ำฝาดประเภท Catechol ให้สีน้ำตาลที่สามารถนำมาย้อมสีผ้าได้ เช่น ใช้ย้อมผ้า แห อวน หนัง
  9. ป่าโกงกางมีความสำคัญอย่างมากสำหรับสัตว์ทะเลต่าง ๆ เนื่องจากเป็นที่วางไข่และฟักตัวอ่อน และเป็นแหล่งที่มีสภาพสมดุลทางธรรมชาติสูงมาก
  10. ป่าไม้โกงกางสามารถช่วยป้องกันรักษาชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะของกระแสน้ำได้ และยังใช้เป็นแนวกำบังคลื่นลมที่เคลื่อนเข้ามาปะทะชายฝั่งได้เป็นอย่างดี

 

เรียบเรียงโดย นายเกียรติศักดิ์ เอี่ยนเล่ง นักวิชาการประมง