Kingdom Plantae (อาณาจักรพืช)

หญ้าทะเล (Seagrass)

หญ้าทะเล (Seagrass) เป็นพืชดอกเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมทางทะเลได้อย่างสมบูรณ์ สามารถดำรงชีวิตและสืบพันธุ์ใต้น้ำทะเล ซึ่งแตกต่างจากสาหร่ายทะเลที่ไม่ใช่พืชดอก หญ้าทะเลมักพบในบริเวณเขตน้ำตื้น ชายฝั่งทะเลที่มีน้ำใส มีแสงส่องถึง และมีพื้นทรายหรือโคลนสำหรับการยึดเกาะ

หญ้าทะเลจะเจริญเติบโตในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยพบมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงบริเวณชายฝั่งของประเทศไทย เช่น อ่าวไทยและทะเลอันดามัน

การสืบพันธุ์ของหญ้าทะเล

  • การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ: ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อจากเหง้า ทำให้เกิดทุ่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว

  • การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ: อาศัยการสร้างดอกและเมล็ด แม้จะพบได้น้อยกว่าแต่ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม

โครงสร้างของหญ้าทะเล

หญ้าทะเลมีลักษณะโครงสร้างเหมือนพืชบก แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

  • ราก: ใช้ดูดซึมสารอาหารจากพื้นดินทะเล และช่วยยึดเกาะให้มั่นคง ป้องกันการถูกพัดพาออกไปกับกระแสน้ำ

  • เหง้า: เป็นส่วนลำต้นที่เจริญเติบโตในแนวนอนใต้พื้นดิน มีหน้าที่กระจายการเติบโตของต้นใหม่ และช่วยเก็บสะสมอาหาร

  • ใบ: ทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสงเพื่อสร้างอาหาร รูปร่างของใบมีความหลากหลาย เช่น ใบเรียวยาวหรือใบกว้าง แตกต่างกันตามชนิดของหญ้าทะเล


บทบาทและความสำคัญของหญ้าทะเลต่อระบบนิเวศ

เป็นผู้ผลิตหลักในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล
หญ้าทะเลทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต (Producer) โดยการสังเคราะห์ด้วยแสง ช่วยสร้างสารอาหารพื้นฐานให้กับสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

เป็นแหล่งอนุบาลและที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล
หญ้าทะเลเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์ทะเลวัยอ่อน เช่น ปลา กุ้ง ปู หอย และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราการอยู่รอดของสัตว์น้ำ

เป็นจุดเชื่อมโยงระบบนิเวศชายฝั่งทะเล
หญ้าทะเลทำหน้าที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างป่าชายเลน แนวปะการัง และพื้นที่น้ำลึก ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสารอาหารและสิ่งมีชีวิตอย่างต่อเนื่อง

ช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่ง
ระบบรากและเหง้าของหญ้าทะเลช่วยยึดเกาะตะกอน ลดความแรงของกระแสน้ำและคลื่นทะเล ทำให้ป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง

ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มออกซิเจนในน้ำ
หญ้าทะเลมีบทบาทสำคัญในการกักเก็บคาร์บอน (Blue Carbon) และช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนในน้ำทะเล เป็นการปรับสมดุลสภาพแวดล้อม

ช่วยลดการฟุ้งกระจายของตะกอน
โดยการป้องกันไม่ให้ตะกอนลอยขึ้นมาทำให้น้ำขุ่น ช่วยรักษาความใสของน้ำในแนวปะการังและบริเวณชายฝั่ง


ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

  • สนับสนุนอุตสาหกรรมการประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวทางทะเล

  • ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งประมง

  • เป็นจุดดำน้ำและแหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญ


ภัยคุกคามต่อหญ้าทะเล

แม้หญ้าทะเลจะมีบทบาทสำคัญ แต่กลับถูกคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การถมทะเล การทิ้งน้ำเสีย การใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายพื้นท้องทะเล รวมถึงการท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทุ่งหญ้าทะเล เพื่อรักษาความสมดุลทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

จัดทำโดย

นักวิชาการประมงปฎิบัติการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน

เอกสารอ้างอิง

  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • กองสารสนเทศและเทคโนโลยีการสำรวจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

บทความล่าสุด