กัลปังหา (Gorgonians) เป็นสิ่งมีชีวิตในทะเลที่บางชนิดมีรูปร่างแผ่แบนคล้ายพัด ก็จะเรียกว่าพัดทะเล (Sea fan) หรือบางชนิดมีลักษณะเป็นเส้นเดี่ยวคล้ายแส้ ก็จะเรียกว่าแส้ทะเล (Sea whip) ซึ่งถ้ามองเผินๆ แล้วกัลปังหาจะดูเหมือนต้นไม้ แต่ความจริงแล้ว กัลปังหาเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปะการัง แต่ถูกแยกออกมาเป็น Subclass Octocorallia ซึ่งมีสมมาตรของร่างกายแบบรัศมี นอกเหนือจากรูปร่างลักษณะภายนอกที่เห็นแตกต่างกับปะการังแข็งแล้ว ตัวของกัลปังหาหรือที่เรียกว่า “โพลิป” (Polyp) แต่ละตัวนั้นจะมีหนวด (Tentacle) 8 เส้น ในขณะที่โพลิปของปะการังแข็งแต่ละตัวจะมีหนวด 6 เส้น หนวดเหล่านี้มีลักษณะคล้ายขนนก ทำหน้าที่กรองดักสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำแล้วนำมากินเป็นอาหาร บริเวณหนวดของมันยังมีเข็มพิษที่คอยช่วยในการจับเหยื่อพวกแพลงก์ตอนสัตว์อีกด้วย โดยจะพบกัลปังหามากในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำมีส่วนช่วยในการพัดพาอาหารมาให้ และช่วยพัดพาสิ่งขับถ่ายหรือของเสียที่ถูกปลดปล่อยจากตัวกัลปังหาออกไป
ที่มาภาพ : https://thai-herbs.thdata.co/page/กัลปังหา/
การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนั้นใช้วิธี “แตกหน่อ” (Budding) หรือ “การแยกออกจากกัน” (Fragmentation) ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเป็นการผสมภายในระหว่างเซลสืบพันธุ์ของเพศผู้และเพศเมียที่มาจากต่างโคโลนี (Colony) กัน โดยที่แต่ละโคโลนีของกัลปังหาส่วนใหญ่จะมีเซลสืบพันธุ์เพียงเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น
กัลปังหามีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก หลายชนิด ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ อาจพบดาวเปราะ หอยเบี้ย ปู หรือกุ้ง เกาะติดอยู่ตามกิ่งก้านของกัลปังหาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้ว การที่กัลปังหามีรูปร่างและสีสันที่สวยงาม จึงเป็นที่นิยมในการนำมาประดับตู้ปลา และนำมาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน และชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่ากัลปังหาเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง หรือแม้กระทั่งนำส่วนที่เป็นแกนในสีดำมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง ส่วนมากมักจะนำมาทำเป็น ปลัดขลิก บ้าง กำไลบ้าง หรือแม้แต่ประคำ ส่วนในทางพุทธคุณนั้น เชื่อกันว่าเรียกโชคลาภ ป้องกันอันตรายกันภูตผีปีศาจได้โดยเฉพาะผีพราย ในแง่มุมบางส่วนของความเชื่อนั้น บางคนเชื่อในเรื่องพ้องเสียง ของ กัลปังหา ถือเป็นเคล็ดเพราะเรียกคล้ายๆกับ “กันปัญหา” ขับไล่สิ่งชั่วร้าย กันภูตผีปีศาจ
ที่มาภาพ : http://www.talad-pra.com/show.php?prakard_id=31565
แต่อย่างไรก็ตาม กัลปังหา ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง มาตรา 17 ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 12 หรือมาตรา 29 ถ้ากระทำต่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 17 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 55 (3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เอกสารอ้างอิง
http://www1a.biotec.or.th/BRT/index.php/2010-08-09-09-38-28/156-gorgonians
https://www.komchadluek.net/amulet/536307
https://www4.fisheries.go.th/index.php/dof/news_local/1210/133669