การศึกษาติดตามคุณภาพน้ำชายฝั่งตลอดแนวทะเลอันดามันของประเทศไทยนั้นแบ่งพื้นที่การศึกษาเป็นพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (จังหวัดระนองถึงจังหวัดภูเก็ต) และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (จังหวัดภูเก็ตถึงจังหวัดสตูล) ซึ่งมีการดำเนินการปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงฤดูแล้ง และฤดูฝน พบว่า สถานะคุณภาพน้ำส่วนใหญ่ของทั้งสองพื้นที่มีสถานะดีและดีมาก ยกเว้นในบางพื้นที่และบางช่วงเวลา (ฤดูกาล) ที่มีสถานะพอใช้ โดยพื้นที่เสี่ยงและควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษเนื่องจากมักพบปัญหาด้านคุณภาพน้ำบ่อยครั้ง ได้แก่ ปากน้ำระนอง จังหวัดระนอง บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา แหลมสักและหาดนพรัตน์ธารา จังหวัดกระบี่ ท่าเรือบ่อม่วงและหาดสำราญ จังหวัดตรัง และบ้านทุ่งริ้น จังหวัดสตูล โดยเฉพาะพื้นที่ปากแม่น้ำ ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวหนาแน่น ส่วนปัจจัยที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่ ได้แก่ สารอาหารในน้ำ โคลิฟอร์มแบคทีเรียทั้งหมด ออกซิเจนละลายน้ำ ตะกอน-แขวนลอย และความเป็นกรดด่าง โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน มักมีปัญหาบ่อยครั้งสำหรับปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งแสดงถึงอิทธิพลของน้ำฝนที่จะชะล้างแผ่นดินลงสู่แนวชายฝั่ง เห็นได้ชัดเจนจากค่าความเป็นกรดด่างที่มีค่าต่ำจากมวล น้ำจืด เมื่อพิจารณาค่าโดยรวมตามช่วงฤดูกาล พบว่า คุณภาพน้ำช่วงฤดูแล้งมีสถานะดีกว่าฤดูฝน โดยมีสถานะคุณภาพน้ำส่วนใหญ่ของพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก ส่วนฤดูฝนสถานะคุณภาพน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยพบมีสถานะคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นปากแม่น้ำ และพื้นที่ที่เป็นชุมชนหนาแน่น รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่ง จากสถานะคุณภาพน้ำโดยรวมในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน พบว่าพื้นที่มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และกิจกรรมทางน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่การท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่างมีมากกว่าตอนบน ได้แก่ บริเวณแหลมสักและหาดนพรัตน์ธารา จังหวัดกระบี่ ท่าเรือบ่อม่วง และหาดสำราญ จังหวัดตรัง และบ้านทุ่งริ้น จังหวัดสตูล อีกทั้งชายฝั่งตอนล่างยังมีแม่น้ำลำคลองไหลลงสู่แนวชายฝั่งมากกว่า ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันตอนเหนือที่พบพื้นที่ชายฝั่งที่มีกิจกรรมทางทะเลและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สูงสุด ได้แก่ บริเวณปากน้ำระนอง จังหวัดระนอง และบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา ก็พบคุณภาพน้ำที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับทะเลอันดามันตอนล่าง

 

เอกสารอ้างอิง

https://km.dmcr.go.th/c_1/s_184/d_2795