ปลาสวยงามที่ว่ายวนอวดโฉมความงามและสีสันอันแปลกตาภายในตู้ นอกจากสร้างความประทับใจแล้ว ยังสร้างความผ่อนคลายแก่เราไม่น้อย บ่อยครั้งที่มักจะเห็นปลาถูกจัดแสดงตามห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือภายในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ อาจทำให้ใครหลายคนเกิดแรงบันดาลใจ ยากเลี้ยง อยากจะดูแลเจ้าปลาสวยงามเหล่านี้ แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาขั้นตอนและวิธีการเลี้ยงปลาสวยงามเรามาทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของการเลี้ยงปลาสวยงามกันก่อน

ภาพ : ปลาสวยงามที่จัดแสดงอยู่ภายในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต
ที่มา : Phuket aquarium

          จากการสันนิษฐาน การเลี้ยงปลาสวยงามเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อประมาณ 2,000 ปีทีแล้ว โดยเริ่มจากการเลี้ยงปลาคาร์พ และปลาทองที่มีสีสันแปลกตา แต่ก็ยังเลี้ยงในบ่อหรือในอ่างเท่านั้น (Noakes et al., 2009) ภายหลังในปี 1832 มีการผลิตตู้กระจกที่สามารถใส่น้ำได้สำเร็จ ทำให้มีผู้สนใจเลี้ยงปลาสวยงามมากขึ้น (Danna, 2022) จากนั้นในปี 1908 เริ่มมีไฟฟ้าใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงมีการคิดค้นปั๊มลมสำหรับเป่าอากาศลงไปในบ่อหรือภาชนะเลี้ยงปลาเพื่อเพิ่มออกซิเจน ทำให้สามารถเลี้ยงปลาได้หลากหลายและสะดวกมากกว่าเดิม ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการพัฒนาอุปกรณ์ สำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้วงการปลาสวยงามมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน (Vasantharajan, 2023)

         สำหรับประเทศไทยนั้น การเลี้ยงปลาสวยงามถือเป็นงานอดิเรกมาตั้งแต่โบราณโดยเริ่มจากปลากัดที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นการละเล่นพื้นบ้าน (ภวพล, 2564) ขณะเดียวกันมีบันทึกไว้ว่ามีการนำปลาทองจากประเทศจีนเข้ามาเลี้ยงครั้งแรกในสมัยอยุธยา เมื่อราวปีพ.ศ. 2234 (เชิดชาย, 2500) นอกจากนั้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2473 ได้มีการนำเข้าปลาสวยงามมาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (เฉลิมวิไล, 2506)


ภาพ : ภาพวาดคนไทยเล่นพนันปลากัดเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5
ที่มา : Ernest young & E.A Norbury, 1898
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการเลี้ยงปลาสวยงามในประเทศไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีกทั้งปลาสวยงามของไทยยังเป็นที่สนใจของนานาชาติ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในโซนร้อนและเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลามากที่สุดอีกประเทศหนึ่งของโลกก็ว่าได้ (กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ, 2563) และบางส่วนของชนิดพันธุ์ปลาในประเทศไทยนั้น มีสีสันและลวดลายสวยงามแปลกตา โดยปลาสวยงามที่นิยมค้าขายในประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 200 ชนิด แบ่งเป็นปลาน้ำจืดสวยงาม180 ชนิด และปลาทะเลสวยงาม 20 ชนิด  (Sermwatanakul, 2005) ในจำนวนปลาน้ำจืดสวยงามทั้งหมด ร้อยละ 90 สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ภายในฟาร์ม และอีกร้อยละ 10 เป็นการจับจากธรรมชาติส่วนปลาทะเลสวยงาม ร้อยละ 99 จับมาจากธรรมชาติ มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่ได้จากการเพาะเลี้ยง (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2550)

          ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมปลาสวยงามของไทยสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกปลาสวยงามอย่างมหาศาล เฉลี่ยปีละ 700 ล้านบาท (อรุณี, 2566) ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยส่งออกปลาสวยงามไปแล้วกว่า 196 ประเทศ จึงถูกจัดให้เป็นประเทศลำดับที่ 6 ของโลก ที่มีการส่งออกปลาสวยงามมากที่สุด

           ดังนั้นการเลี้ยงปลาสวยงามที่จากเดิมเลี้ยงไว้เพื่อการนันทนาการเท่านั้น กลับพลิกผัน สร้างรายได้สร้างอาชีพให้แก่ผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก หากท่านใดมีความสนใจที่จะเลี้ยงปลาสวยงามแต่ไม่มีความรู้พื้นฐานในการเลี้ยงปลาสวยงาม ผู้เขียนแนะนำให้เริ่มต้นทดลองเลี้ยงจากปลาที่หาและเลี้ยงง่าย จากนั้นค่อยเริ่มขยับขยายต่อไป และสามารถติดตามเทคนิควิธีในการเลี้ยงปลาสวยงามได้ในตอนถัดไป

เรียบเรียงโดย ทศนัย งะหมาด

บรรณานุกรม
กรมประมง.2553. การเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงาม. แหล่งที่มา : http://www.coastalaqua.com
กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ. 2563. สถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย พ.ศ.2563  พิมพ์ครั้งที่ 1 สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ.
เฉลิมวิไล ชื่นศรี. 2506. การสำรวจพันธุ์ปลาสวยงามที่มีผู้นำเข้ามาเลี้ยงในกรุงเทพฯ. วิทยานิพนธ์สำหรับหลักสูตรปริญญาตรี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
เชิดชาย อมาตยกุล. 2500. ปลาทอง. วารสารการประมง ปีที่ 10 เล่มที่ 2 : 169 – 189
ภวพล ศุภนันทนานนท์. 2564. ความเป็นมาของการเลี้ยงปลาสวยงาม. คู่มือเลี้ยงปลาสวยงาม สำนักพิมพ์บ้านและสวน บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. 2550. ธุรกิจปลาสวยงาม : ตลาดในประเทศเติบโตดี..ส่งออกยังแข่งขันรุนแรง.
แหล่งที่มา : http:// www.positioning.com/prnews.
อรุณี รอดลอย. 2566. รายได้จากการส่งออกสัตว์น้ำของไทย. ธุรกิจสัตว์น้ำและพันธุ์ไม้น้ำสวยงามปี 2021 – 2025 กรมประมง.
Danna staff. 2022. Invent the aquarium in 1832. The Lady and the octopus. เข้าถึงจาก : https://moaph.org/article
Ernest young & E.A Norbury. 1898. Laying wagers on fighting fish. The Kingdom
of the yellow robe. Westminster Archibald Constable& Co.
Noakes, D. L. G., Romero, A., Zhao, Y. H., & Zhou, Y. Q.i. 2009. first Aquaculture in The world. Chinese fishes. Berlin: springer Science & Business Media.
Sermwatanakul A. 2005. The Current State of Ornamental Fish Industry in Thailand. Extension Paper 2/2005. Department of Fishies.
Vasantharajan M. 2023. 2005. the cultivation of fish after World War I. A Brief Note on Important Freshwater Ornamental Fishes. เข้าถึงจาก: https://www.researchgate.net/