ทำไมนกต้องอพยพ

          การอพยพย้ายถิ่นไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของนก เป็นการดำรงชีวิตที่ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลตามธรรมชาติ โดยเฉพาะนกที่อาศัยและสร้างรังวางไข่ อยู่ทางตอนเหนือของโลก เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวอุณหภูมิจะลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ถิ่นอาศัยถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ และสิ่งมีชีวิตที่เคยเป็นอาหารของนกไม่หลงเหลือ ให้จับกินได้อีกต่อไป ทำให้ต้องอพยพย้ายถิ่นลงมาทางตอนใต้ เพื่อค้นหา แหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์จนกว่าฤดูหนาวผ่านพ้นไปจึงอพยพกลับไปยัง ถิ่นอาศัยเดิม เพื่อเริ่มต้นฤดูผสมพันธุ์อีกครั้งจนเกิดเป็นวัฏจักรหมุนเวียนมาอย่างยาวนาน

          ลูกนกที่เกิดใหม่ในช่วงเดือนกรกฎาคม จะต้องเร่งสะสมพลังงานและ เตรียมความพร้อมสำหรับการบินอพยพเป็นระยะทางไกล บางชนิดอาจบินอพยพไปจนถึงประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ นกแต่ละชนิดใช้เส้นทางและใช้ระยะเวลาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการค้นหาแหล่งอาหาร ที่เหมาะสมของตนเอง นกบางชนิดอาจอพยพเป็นระยะทางสั้น ๆ สลับกับการหยุดพักหากินตลอดการเดินทางอพยพ ในขณะที่นกบางชนิดตัดสินใจบินอพยพ ทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่หยุดพัก บางชนิดบินอพยพในช่วงกลางคืนเพื่อลดการสูญเสียพลังงาน

          การอพยพของนกชายเลนจะบินรวมกลุ่มกันไปเป็นฝูงใหญ่ เพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากนกที่เป็นนักล่า เช่น เหยี่ยวและนกอินทรี การอพยพเป็นกลุ่ม เป็นการเรียนรู้และจดจำเส้นทางการอพยพจากนกที่มีประสบการณ์มากกว่า

นกจะเลือกใช้เส้นทางที่อุดมสมบูรณ์และเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตในช่วง ย้ายถิ่นแตกต่างกัน เช่น นกชายเลนจะอพยพลงมาตามแนวชายฝั่งทะเล และกำหนดจุดหากินเป็นระยะ เพื่อสะสมพลังงานให้ไปจนถึงจุดหมายปลายทาง

ส่วนนกขนาดใหญ่ เช่น นกกระสา (Stork) เหยี่ยวและนกอินทรี (Hawk and Eagle) จะอพยพเหนือแผ่นดินโดยอาศัยมวลอากาศร้อน เพื่อช่วยพยุงการลอยตัวหรือ ร่อนไปยังจุดหมายปลายทาง

เอกสารอ้างอิง

https://km.dmcr.go.th/c_256/d_18882