ชื่อไทย: ปลาผีเสื้อ

ชื่อวิทยาศาสตร์: Chaetodontidae

ชื่ออังกฤษ: Butterflyfish, Bannerfish, Coralfish

การจำแนกทางอนุกรมวิธานและลักษณะทางสัณฐานวิทยาปลาวงศ์ปลาผีเสื้อ

ปลาวงศ์ปลาผีเสื้อจัดเป็นปลากระดูกแข็ง อยู่ในชั้น (class) Actinopterygii ชั้นย่อย (subclass) Neopterygii อันดับ (order) Perciformes อันดับย่อย (suborder) Percoidei อยู่ในวงศ์ Chaetodontidae (Burgess, 1978) ปลาวงศ์นี้เป็นปลาน้ำเค็มที่มีลักษณะตัวแบนข้างเหมือนฝ่ามือตั้ง เมื่อดูลำตัวจากด้านข้างมีรูปร่างหลายแบบได้แก่ รูปไข่ ค่อนข้างกลมไปจนถึงเกือบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ครีบหลังยาวติดต่อกัน บางชนิดอาจมีรอยหยักเล็กน้อย ไม่มี procumbent spine บนครีบหลัง ส่วนหัวมีความสูงเท่า ๆ กับความยาว จะงอยปากมีตั้งแต่ยื่นเล็กน้อยจนถึงยาวเป็นท่อในบางสกุล ปากมีขนาดเล็ก ยืดหดได้ ภายในปากมีฟันละเอียด โค้งแบนเล็กน้อย ปกติพบการเรียงตัวของฟันบนขากรรไกรล่าง (mandible) เรียงเป็นแถบ ๆ แต่ละแถบมีหลายแถวซ้อนกัน และซ้อนเรียงกันแน่นอยู่ด้านหน้าขากรรไกร ไม่มีฟันบนกระดูกโวเมอร์ (vomer) และกระดูกเพดานปาก (palatine) กระดูกขากรรไกรบนปิด แผ่น preoperculum มีทั้งเรียบและหยักเป็นฟันที่มุมไม่มีหนาม กระดูก lachrymal มีรูปร่างต่าง ๆ กัน ตั้งแต่สั้นจนถึงยาว โดยขึ้นกับขนาดของจะงอยปากมีลักษณะตั้งแต่โค้งหรือหักมุม ขอบเรียบ หยักหรือเป็นฟัน ผิวอาจเรียบเปล่าหรือมีเกล็ดหุ้ม แผ่นเหงือก (gill membrane) ติดกับ isthmus เป็นแนวสั้น ๆ (พจนา บุญยเนตร และสุพจน์ จันทราภรณ์ศิลป์, 2529)

ปลาผีเสื้อมีเกล็ดแบบทีนอยด์ (tenoid scale) ขนาดของเกล็ดต่างกัน รูปร่างมีตั้งแต่กลมจนดูเหลี่ยม การจัดเรียงตัวของเกล็ดมีหลายแบบ เกล็ดที่อยู่ทางหัวจะเล็กกว่าตรงกลางหรือส่วนท้ายของลำตัว บริเวณแนวฐานของครีบหลังและครีบก้นจะมีเกล็ดเรียงตัวปิดอยู่สูงมากน้อยต่างกัน ที่ฐานของหนามครีบท้องมี axillary scale แนวเส้นข้างลำตัวของเกล็ดแตกแขนงได้หลายแบบ ความยาวของเส้นข้างลำตัวอาจไปสิ้นสุดเพียงตรงใต้ก้านครีบอ่อนก้านสุดท้ายของครีบหลัง หรือยาวตลอดไปจนถึงฐานของครีบหาง ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 6-16 ก้าน ก้านครีบอ่อน 15-30 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 3-5 ก้าน (โดยทั่วไปมี 3 ก้าน) ก้านครีบอ่อน 14-23 ก้าน ซี่เหงือก (gill raker) สั้น มี 9-25 ซี่ มี pseudobranchiae มี branchiostegal ray  6-7 ซี่ ก้านครีบหางแตกแขนงปกติมี 15 ก้าน (พจนา บุญยเนตร และสุพจน์ จันทราภรณ์ศิลป์, 2529)

ปลาวงศ์ปลาปลาผีเสื้อรวมทั้งวงศ์มี 10 สกุล จำนวน 120 ชนิด พบได้ตามแนวปะการังในน่านน้ำไทย จำนวน 40 ชนิด (อุกกฤต สตภูมินทร์, 2550) สกุลที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ คือ สกุล Chaetodon  ลักษณะสำคัญ คือ เส้นข้างตัวไม่สมบูรณ์ สิ้นสุดลงที่บริเวณครีบอ่อนก้านสุดท้ายของครีบหลัง ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 11-16 ก้าน ฐานของก้านครีบแข็งยาวกว่าหรือยาวเท่ากับฐานของก้านครีบอ่อน เกล็ดมีลักษณะกลม มีเกล็ดบนเส้นข้างลำตัว น้อยกว่า 55 เกล็ด ส่วนใหญ่เป็นปลาขนาดค่อนข้างเล็ก บางชนิดมีความยาวถึง 30 เซนติเมตร ลำตัวเป็นรูปไข่ (orbicular หรือ subrhomboid) และแบนข้างมาก ตาขนาดค่อนข้างเล็กวางอยู่ในตำแหน่งเหนือขึ้นมาเล็กน้อยจากแกนแนวนอนสมมุติที่ลากผ่านจากปลายปากบนถึงกลางคอดหาง ปากขนาดเล็กจะงอยปากมีขนาดสั้นถึงปานกลางและยืดหดได้ ฟันเป็นซี่คล้ายขนเล็ก ๆ เรียงตัวชิดกันเป็นแถว ๆ หรืออาจเป็นกลุ่มอยู่บริเวณปลาย ครีบหลังมีก้านครีบแข็งขนาดเล็กถึงปานกลาง มีก้านครีบแข็งก้านที่ 3-5 ยาวที่สุด ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 ก้านแรกยาวพอ ๆ กัน และยาวกว่าก้านครีบแข็งก้านที่ 3 ครีบหูมีขนาดปานกลาง ครีบท้องมีความยาวปานกลาง (ภาพที่ 1) สีอาจเปลี่ยนแปลงไปตามขั้นตอนการเจริญเติบโต

ภาพที่ 1 ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของปลาสกุลปลาผีเสื้อ

ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของปลาสกุลปลาผีเสื้อ

1. แถบคาดตา (eye bar) ปลาผีเสื้อในสกุล Chaetodon ทุกชนิดจะมีลักษณะสำคัญ คือแถบคาดตา แต่ละชนิดจะมีแถบคาดตาที่มีลักษณะและสีสันต่างกันไป ซึ่งลักษณะที่แตกต่างกันนี้ก็ใช้เป็นจุดสังเกตเพื่อจำแนกชนิดได้ เช่น แถบคาดตาหนาสีดำ แถบคาดตาเป็นเส้น แถบพาดต่อเนื่องจากท้ายทอยจรดคาง แถบคาดตาไม่ต่อเนื่องขาดหายไปบางส่วน เป็นต้น

2. ครีบหลัง (dorsal fin) ปลาผีเสื้อบางชนิดในสกุล Chaetodon จะมีลักษณะของครีบหลังที่พิเศษเช่นมีก้านครีบอ่อนเป็นเส้นยื่นยาวออกไปมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ช่วยในการจำกัดวงในการที่จะจำแนกชนิดได้ เนื่องจากปลาที่มีลักษณะเช่นนี้ที่พบในประเทศไทยมีเพียง 3 ชนิดเท่านั้น

3. จุดหรือแต้ม (spot)ปลาผีเสื้อบางชนิดจะมีจุดสีดำอยู่บนลำคัว ซึ่งมีลักษณะที่ต่างกันไป เช่น ขนาดของจุด รูปร่างของจุด จุดมีขอบหรือไม่มีขอบ นอกจากนี้ตำแหน่งที่ตั้งของจุดก็ใช้ในการจำแนกชนิดปลาผีเสื้อได้เช่นกัน เช่น จุดอยู่บนลำตัว จุดตรงโคนหาง จุดบนครีบหลัง เป็นต้น

4. ครีบหาง (caudal fin)หางของปลาผีเสื้อในสกุล Chaetodon แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันที่จะใช้สังเกตในการจำแนกชนิดได้ เช่น หางมีแถบสีดำคาดขวาง สีสันของหาง เช่น แดง เหลืองดำ หรือใสไม่มีสี เป็นต้น ในปลาผีเสื้อบางชนิดเพียงแถบ ๆ เดียวบนหางที่ต่างกันก็แยกเป็นคนละชนิดได้ เช่น ปลาผีเสื้อชนิด C. baronessa ที่พบในออสเตรเลีย กับ C. triangulum ที่พบในประเทศไทย

5. สีพื้นลำตัว (body colour) ปลาผีเสื้อมีความหลากหลายของสีสันที่สามารถใช้เป็นจุดประกอบในการจำแนกชนิดได้ บางชนิดจะมีสีพื้นลำตัวเพียงสีเดียว เช่น สีเหลือง สีขาว หรือสีน้ำตาล บางชนิดอาจมีสีพื้นลำตัวสองโทนสี เช่นสีขาวกับสีเหลือง สีขาวกับสีดำ เป็นต้น

6. ลักษณะของลำตัว (body shape)ปลาผีเสื้อในสกุล มีความแตกต่างกันของรูปร่าง และขนาดของลำตัวซึ่งสามารถใช้ในการสังเกตเพื่อจำแนกชนิดได้ เช่น ลำตัวรีเป็นรูปไข่ รูปร่างเกือบเป็นรูปสามเหลี่ยม รูปร่างแป้นเกือบกลม เป็นต้น

7. ลวดลายบนลำตัว (body pattern)ลวดลายบนตัวปลาผีเสื้อแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันไปและใช้เป็นจุดสังเกตในการแยกชนิดได้ เช่น เป็นลายบั้งดำตรง เป็นลายบั้งเฉียง เป็นจุดเรียงกัน เป็นลวดลายที่เกิดจากการเรียงตัวของเกล็ด หรือเป็นเส้นพาดตามยาวลำตัว เป็นต้น

8. ปาก (mouth)ปลาผีเสื้อแต่ละชนิดกินอาหารที่แตกต่างกันไปบ้าง ดังนั้นลักษณะของปากปลาผีเสื้อ จึงมีความแตกต่างกันไปซึ่งจะใช้เป็นจุดสังเกตในการจำแนกชนิดปลาผีเสื้อได้ เช่นกัน เช่น บางชนิดมีปากยื่นยาว บางชนิดมีปากเล็กแต่ริมฝีปากหนา เป็นต้น

บทความล่าสุด

7 ธันวาคม 2023

กั้งตั๊กแตน

22 พฤศจิกายน 2023

ปลากระทิงไฟ