ปลาพยาบาล (Bluesteak cleaner wrasse)

ปลาพยาบาลอยู่ในกลุ่มของปลานกขุนทองในครอบครัว (family) Labridae

ชื่อสามัญ: Bluesteak cleaner wrasse

ชื่อวิทยาศาสตร์: Labroides dimidiatus  (Valenciennes, 1839)

พบแพร่กระจายตามแนวปะการังในเขตน่านน้ำอินโด-แปซิฟิก ทะเลแดงและฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา โตเต็มที่มีขนาด  14 เซนติเมตร มีอายุยืนประมาณ 4 ปี

01

รูปที่1. ปลาพยาบาลเข้าไปทำความสะอาดในปากปลาไหลมอเรย์

          ในธรรมชาติปลาพยาบาลเป็นปลาที่มีประโยชน์กับปลาอื่นมาก คือมันจะทำหน้าที่ช่วยกำจัดปรสิตภายนอกให้กับปลาอื่น โดยมันว่ายเข้าไปปฏิบัติหน้าที่โดยกินปรสิตที่เกาะอยู่ตามซอกครีบ ฝาปิดเหงือก เหงือกปลา เกล็ดปลา หรือบางครั้งว่ายเข้าไปทำงานถึงในปากของปลาอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก เช่น ปลาหมอทะเล หรือปลาไหลมอเรย์ ซึ่งปลาเหล่านั้นก็จะไม่ทำอันตรายปลาพยาบาล

02

รูปที่2. ปลาพยาบาลกำลังให้บริการปลาผีเสื้อคอขาว

          ปลาพยาบาลมักอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 10-15 ตัว โดยมีตัวผู้เป็นจ่าฝูงตัวเดียว มักพบปลาพยาบาลได้มากในแนวปะการัง โดยรวมตัวกัยเป็นสถานีบริการรับทำความสะอาด (cleaning station) ซึ่งในบริเวณนี้จะมีปลาหลายชนิดเข้ารับบริการทำความสะอาดและเป็นที่น่าแปลกใจคือ ปลาผู้ล่าจะไม่ทำร้ายปลาที่เป็นเหยื่อในบริเวณสถานีรับทำความสะอาด

04

รูปที่3. ปลาหางเหลืองเข้ารับบริการจากปลาพยาบาล

          การที่ปลาพยาบาลเข้าไปกินปรสิตที่เกาะตามอวัยวะส่วนต่างๆ ของปลาทำให้ปลาผู้รับบริการผ่อนคลาย นอกจากกินปรสิตแล้วปลาพยาบาลยังกินเศษอาหาร เมือก และเนื้อตายที่บริเวณบาดแผลของปลาที่เข้ารับบริการซึ่งจะทำให้แผลหายเร็วขึ้น แต่บางครั้งปลาที่เข้ารับบริการไม่ชอบเพระทำให้เจ็บปวด