ปลามีดโกน หรือ ปลาใบมีดโกน หรือ ปลาข้างใส มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Razorfish หรือ Shrimpfish พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในแถบอินโด-แปซิฟิก โดยอาศัยอยู่กับปะการัง, กัลปังหา และหนามของเม่นทะเล เพื่อหลบหลีกจากศัตรูผู้ล่า เนื่องจากไม่มีอาวุธอะไรที่จะป้องกันตัวได้ นอกจากนี้แล้ว ปลามีดโกนยังเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เพราะแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างเลยมานานกว่า 60 ล้านปีแล้ว ตั้งแต่ยุคต้นไมโอซีน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับฟอสซิลบรรพบุรุษของปลาชนิดนี้ที่ขุดพบที่เทือกเขาแอลป์ทางตอนเหนือของอิตาลี

        มีลักษณะเด่นที่รูปร่างและวิธีการว่ายน้ำ รูปร่างบางเฉียบเหมือนใบมีดโกน ปากเรียวแหลมและงอนขึ้นเล็กน้อย ท้องบาง เกล็ดพัฒนาเหมือนเกราะบางใสหุ้มตัว ว่ายน้ำหัวทิ่มลงลำตัวตั้งฉากกับพื้นตลอดเวลา หางแหลมเหมือนมีกระดูกเล็กๆ ชี้ขึ้นข้างบน คล้ายๆ ส่วนหางของใบมีดโกนที่ช่างตัดผมสมัยโบราณใช้นิ้วเกี่ยวไว้เวลาใช้งาน ความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ครีบหลังมี 2 อันและอยู่ในแนวราบ หางกลมมน บางชนิดลำตัวใส บางชนิดมีแถบคาดตามยาวสีดำ

ที่มาภาพ : https://www.blackturtledive.com/th/koh-tao-marine-life/grooved-razorfish/

        กินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร นิยมเลี้ยงกันในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และเป็นปลาทะเลสวยงามที่ตลาดมีความต้องการจึงมีการลักลอบจากธรรมชาติจำนวนมากจนเสี่ยงสูญพันธุ์ ปัจจุบัน…ปลาใบมีดโกนกลายเป็น สัตว์น้ำเศรษฐกิจสวยงามชนิดใหม่ ที่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนำมาจำหน่ายในตลาด

อ้างอิง

http://www.nextsteptv.com/ปลามีดโกน/

https://www.posttoday.com/politics/190279

https://www.thairath.co.th/content/313669