3ข้อมูลทั่วไปของปูเสฉวนบก

อนุกรมวิธาน

 Kingdom : Animalia
 Phylum : Arthropoda
 Subphylum : Crustacea
Class : Malacostraca
Order : Decapoda
 Family : Coenobitidae
Genus : Coenobita Latreille, 182

ปูเสฉวนบก อยู่ในสกุล Coenobita (มาจากคำในภาษาละตินว่า COENOBIVM และคำในภาษากรีกโบราณว่า κοινόβιον แปลว่า “ชีวิตในประชาคม, อาราม”) มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างปูและกุ้ง ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 5 นิ้ว มีขาทั้งหมด 10 ขาเช่นเดียวกับปูทะเล ส่วนท้ายลำตัวมีลักษณะอ่อนนุ่มทำให้ต้องอาศัยอยู่ในเปลือกหอยเพื่อป้องกันตัวและให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย ปูเสฉวนบกไม่สามารถที่จะอาศัยอยู่ในน้ำเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากระบบการหายใจถูกพัฒนาให้รับออกซิเจนโดยตรง ถ้าลงไปในน้ำจะจมน้ำตายได้ แต่จะต้องลงไปกินน้ำทะเลเพื่อรับแคลเซี่ยมและเกลือแร่ให้กับร่างกาย อีกทั้งยังต้องการน้ำจืดเพื่อการอยู่รอดอีกด้วย กินซากพืช ซากสัตว์เป็นอาหารเหมือนปูเสฉวนทั่วไป และมักหากินในช่วงเวลากลางคืนมากกว่าช่วงเวลากลางวัน โดยช่วงเวลากลางวันมักหลบอยู่ตามใต้กองใบไม้ที่มีความชุ่มชื้น

ในประเทศไทยพบอย่างน้อย 3 ชนิด (species)
Coenobita brevimanus : (ปูเสฉวนบกยักษ์)
Coenobita violascens : (ปูเสฉวนบกยักษ์)
Coenobita rugosus (ปูเสฉวนบก)

ลักษณะเฉพาะของปูเสฉวนบก

ลำตัวส่วนหน้าของปูเสฉวนบกปกคลุมด้วยเปลือกไคตินที่แข็งเหมือนปูทั่วไป ส่วนท้องมีลักษณะ​ที่ยาวและนุ่มกว่า ทำให้สามารถปรับช่วงท้องให้เข้ากับเปลือกหอยที่เป็นเกลียวได้ โดยใช้ขาคู่ที่สี่และห้ายึดเกาะกับผนังด้านในของเปลือกหอย​ไม่ให้หลุด โดยการเกร็งกล้ามเนื้อตามโครงสร้างของหอย

ก้ามขนาดใหญ่ด้านซ้ายใช้ในการป้องกันตัว จับปีนต้นไม้และทรงตัว และยังใช้เป็นฝาปิดเปลือกหอย ส่วนก้ามด้านขวาที่เล็กกว่าใช้หยิบส่งอาหารและน้ำเข้าปาก ผิวของเปลือกที่ขรุขระช่วยยึดปูไว้ในเปลือก

ปูเสฉวนบกมีเหงือกที่ชื้นสำหรับหายใจ โดยช่องเหงือกมีหลอดเลือดที่พัฒนาสำหรับแลกเปลี่ยนก๊าซได้โดยตรงกับอากาศ โดยต้องมีความชื้นในอากาศ 70% ซึ่งทำให้ปูเสฉวนบกต้องอาศัยเปลือกหอยในการเก็บกักความชื้นไว้ หากปูเสฉวนบกอยู่นอกเปลือกหอยเกิน 24 ชั่วโมงก็จะตายได้

หนวด 2 คู่ไวต่อการรับสัมผัส คู่ที่ยาวกว่าใช้รับความรู้สึก และคู่ที่สั้นกว่าใช้ในการดมกลิ่นและชิมอาหาร ขนที่ปกคลุมภายนอกก็ใช้รับความรู้สึกเช่นกัน เส้นขนและหนวดเหล่านี้ยังเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับการสั่นสะเทือนอีกด้วย

การเจริญเติบโตของปูเสฉวนบกใช้วิธีการลอกคราบ เพื่อขยายโครงสร้างและร่างกายให้ใหญ่ขึ้น โดยขณะลอกคราบจะสร้างแรงดันน้ำในร่างกายให้มากพอที่จะแยกคราบเก่าออก ปูบางตัวทิ้งเปลือกและฝังตัวเองในทราย บางตัวกักเก็บน้ำไว้ในเปลือกก่อนลอกคราบและยังคงอยู่ในเปลือกตลอดการลอกคราบซึ่งอาจใช้เวลา 45-120 วัน สังเกตได้ว่าปูที่เพิ่งลอกคราบใหม่ๆ ลำตัวจะมีสีฟ้าใสสะอาด ซึ่งอาจเกิดจากการกินคราบเก่าของตัวเองเพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียม วิตามิน และแร่ธาตุ

ข้อมูล : สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

บทความล่าสุด

7 ธันวาคม 2023

กั้งตั๊กแตน

22 พฤศจิกายน 2023

ปลากระทิงไฟ