พยาธิปลิงใส
พยาธิปลิงใส

            ชนิดของพยาธิปลิงใสชนิดที่พบได้บ่อยมีสองชนิดคือ Gyrodactylus  และ Dactylogyrus ซึ่งมีทั้งที่เป็น  
– ปรสิตภายนอก(เหงือก, ผิวตัว, รูทวาร, ตา, ช่องปาก)                      

– ปรสิตภายใน (ทางเดินอาหาร, อวัยวะสืบพันธุ์, หัวใจ)
เป็นพวกที่มีวงจรชีวิตแบบง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน ต้องการเจ้าบ้านเพียงชนิดเดียว มีทั้งแบบเพศรวมและแบบที่สามารถผสมพันธุ์ภายในตัวเอง จะมีระยะตัวอ่อน 2-3 ระยะ โดยปรสิตชนิดนี้จะมีลักษณะ ลำตัวบางใส ไม่มีจุดตา (eye spot)  โดยพยาธิปลิงใสกลุ่มนี้มี hooks และ anchors เป็นอวัยวะที่ใช้ติดกับเจ้าปลาของเรา ส่วนหัวแยกออกเป็นสองแฉกด้านในมี Head organ ข้างละ 1 อัน ถัดจาก Head organ ลงมาเล็กน้อย คือคอหอยลักษณะกลมหนา และมีลำไส้แยกออกเป็นสองแขนงยาวขนานกับความยาวลำตัว  ปลิงใสทุกชนิดจะเป็นปรสิตตลอดชีวิต โดยพบทั้งที่เป็น ปรสิตภายนอก และปรสิตภายใน ของปลา รวมทั้งสัตว์ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในน้ำ เช่นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แม้กระทั่ง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างไรก็ตาม ปลาจัดเป็นเจ้าบ้าน (host) ที่มีปรสิตกลุ่มนี้มาก โดยเจ้าพยาธิปลิงใสจะเป็นปรสิตภายนอกบริเวณผิวลำตัว เหงือก ครีบ เกล็ด

ลักษณะอาการของปลา 
มีสีของลำตัวเข้มกว่าปกติจากเดิม กินอาหารน้อยลง จนร่างกาย ผอมโซ  ว่ายน้ำทุรนทุราย ลอยตัวตามผิวน้ำ  กระพุ้งแก้มขยับเปิดปิดเร็วกว่าปกติ อาจมีแผลขนาดจิ๋วอยู่ทั่วลำตัว  แต่ถ้าเกิดการติดโรคในขั้นรุนแรง อาจมองเห็นเหมือนกับว่าปลามีขนสีขาวสั้น ๆ อยู่ตามลำตัว ซึ่งจะทำให้ปลาตายได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการที่ปลายกิ่งเหงือกเชื่อมรวมกัน จนมีลักษณะคล้ายกระบอง เซลล์เยื่อบุผิวเพิ่มขึ้นจำนวนมากขึ้น เซลล์บวม เกิดภาวะเลือดคั่ง เซลล์เสื่อมสภาพ สลายตัวและมีเซลล์ตาย ทำให้พื้นผิวที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลงทำให้รับอากาศได้ไม่เต็มที่ เจอเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณที่มีพยาธิปลิงใสเกาะ เช่นเดียวกันเมื่อเจ้าพยาธิปลิงใสเกาะที่บริเวณ ดวงตา ลำตัว หรือ ครีบ ของเจ้าปลา จะทำให้เห็นผิวตัวโป่งบวมออกมา ครีบเปื่อย เหงือกถูกทำลาย ขับเมือกมาก ตัวซีด ผิวตัวปลาเกิดบาดแผล เนื่องจากตะขอหนามของปรสิตฝังลึกลงในเนื้อเยื้อปลา เป็นเหตุให้เกิดการบวมอักเสบ

เนื่องจากเจ้าพยาธิปลิงใสทำลายเยื่อเมือกที่ปกคลุมเหงือกและผิวหนัง ทำให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมต่อการเพิ่มจำนวนของเห็บระฆัง เมื่อมีปรสิตเพิ่มมากขึ้น ปลาจะขับเมือกออกมามากขึ้น ทำให้มีการสะสมของสารอินทรีย์ในน้ำมากขึ้นไปอีก เพราะจะมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้มากขึ้น  ซึ่งการนำเจ้าปลาที่ติดเชื้อไปเลี้ยงรวมกันกับปลาที่ไม่ติดเชื้อ จะทำให้ปลาที่ไม่ติดเชื้อ ติดเชื้อรุนแรงขึ้นกว่าเดิมมาก ดั้งนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ จึงไม่ควรใช้อุปกรณ์ในการเลี้ยงรวมกัน ควรแช่อุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนนำไปใช้

การรักษาและการป้องกัน

1. ใช้ฟอร์มาลิน 25 – 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่นาน 24 ชั่วโมง

2. ใช้ดิพเทอร์เร็กซ์ 0.5-0.25 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่นาน 24 ชั่วโมง

เอกสารอ้างอิง:
http://www.whitecranev88.com/th/research_detail.php?id=44

file:///C:/Users/Kpichsinee/Downloads/Fulltext%231_298762.pdf

http://vet.kku.ac.th/semi9_2551/022-%A4%B3%D4%B5-%CB%B9%E9%D2%20208-214%20new.pdf

https://lib.ku.ac.th/KUCONF/KC3905014.pdf

https://otopmidyear.com/page-1142.php

เรียบเรียงโดย นางสาวปิยรัตน์ คุ้มรักษา ตำแหน่ง นายสัตวแพทย์