
แมงกะพรุนหัวขวด (Blue Bottle Jellyfish) : สกุล Physalia
จัดอยู่ในกลุ่มแมงกะพรุนไฟ ไฟลัม Cnidaria คลาส Hydrozoa แมงกะพรุนหัวขวด มีลักษณะส่วนบนลอยโผล่พ้นน้ำคล้ายลูกโป่งรูปร่างรี ยาว คล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกส มีหนวดยาวสีฟ้าหรือสีม่วง มีเข็มพิษ (nematocyst) สำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อ กระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหนวด (tentacle) แมงกะพรุนชนิดนี้ทั่วโลกพบ 2 ชนิดคือ แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (P. physalis) และ แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกสอินโด-แปซิฟิก (P. utriculus) ปกติจะพบ บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลเมดิเตอเรเนียน มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย
พิษของแมงกะพรุนหัวขวด มีผลต่อระบบประสาท หัวใจ และผิวหนัง ส่วนใหญ่คนที่สัมผัสพิษจะมีอาการคัน และปวดแสบปวดร้อนในเบื้องต้น การแสดงอาการของพิษในผู้ป่วยแต่ละบุคคลความรุนแรงจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกาย ความต้านทาน และปริมาณพิษที่ได้รับ
สำหรับผู้ที่ได้รับพิษจากแมงกะพรุนหัวขวด ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1.การใช้น้ำส้มสายชูกลั่นที่ใช้บริโภคนำมาราดต่อเนื่อง 30 วินาที บริเวณที่ถูกพิษ โดยน้ำส้มสายชูจะช่วยระงับไม่ให้กระเปาะพิษของแมงกะพรุนยิงพิษแพร่กระจายเพิ่ม
2.ห้ามใช้น้ำแข็ง น้ำเปล่า เหล้า โซดา หรือ อื่นๆ ราดแทน เพราะจะทำให้พิษยิ่งแพร่กระจายมากขึ้น
3.ห้ามขูด-ถู หรือนำวัสดุไปขยี้หรือทา บริเวณที่ได้รับพิษ เพราะจะทำให้พิษแพร่กระจายเร็วขึ้น
4.หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์
จัดทำโดย นักวิชาการประมงปฎิบัติการ
ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน
เอกสารอ้างอิง
www.dmcr.go.th/detailAll/20905/nws/16
www.prachachat.net/world-news/news-274917
บทความล่าสุด

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเปลือกหอย ❓

ประโยชน์ของเปลือกหอยคืออะไร ❓
