เป็นลุ่มน้ำย่อยที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก มีระบบนิเวศที่หลากหลาย ทั้งระบบนิเวศน้ำจืดในส่วนที่เป็นแม่น้ำหลัก ระบบนิเวศน้ำ-กร่อยบริเวณตอนล่างของแม่น้ำ และระบบนิเวศทางทะเลบริเวณปากแม่น้ำ และมีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ เช่น ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง รวมทั้งสัตว์ทะเลหายากบางชนิดที่เข้ามาอาศัยหากินในบริเวณชายฝั่ง
ภาพที่ 1. ตั้งลุ่มน้ำประแสร์
ที่มาภาพ: https://km.dmcr.go.th/wp-content/uploads/2013/08/Prasae01.jpg
พรรณพืช
ป่าชายเลนบริเวณลุ่มน้ำประแส มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 6,750 ไร่ โดยทั่วไปพบว่ามีโกงกางใบเล็กเป็นพันธุ์ไม้ชนิดเด่น รองลงมา ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ และฝาดดอกขาว เป็นต้น ในบริเวณที่เป็นป่าชายเลน ชั้นนอก ซึ่งน้ำท่วมถึงตลอดเวลา พบไม้เด่น ได้แก่ โกงกางใบเล็ก และโกงกางใบใหญ่ บริเวณป่าชั้นกลาง ซึ่งน้ำท่วมเป็นครั้งคราว พบไม้เด่น ได้แก่ แสมขาว ลำพู และถั่วขาว สำหรับป่าชั้นในซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง พบไม้เด่น ได้แก่ ปอทะเล และปรง
ภาพที่ 2. สภาพป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ที่มาภาพ: https://km.dmcr.go.th/wp-content/uploads/2013/08/Biodiversity.png
หญ้าทะเล
จากการสำรวจบริเวณปากแม่น้ำประแส พบว่ามีพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลทั้งหมด 1,840 ไร่ พบหญ้าทะเลจำนวน 4 ชนิด โดยหญ้าชะเงาใบสั้นหรือหญ้ากุ่ยช่ายทะเล (Halodule uninervis) และหญ้าผมนางหรือหญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule pinifolia) พบมากที่สุด และรองลงมา คือ หญ้าเงาใส (Halophila decipiens) และหญ้าใบมะกรูดเล็ก (Halophila minor) ตามลำดับ
แพลงก์ตอน
ความหลากหลายทางชีวภาพของลุ่มน้ำประแสยังครอบคลุมกลุ่มสัตวฺน้ำที่สำคัญ เช่น กลุ่มแพลงก์ตอน พบแพลงก์ตอนพืช จำนวน 5 ดิวิชั่น รวม 67 ชนิด ใน 55 สกุล ประกอบด้วยดิวิชั่น Bacillsriophycea จำนวน 29 ชนิด ใน 24 สกุล Chlorophyta จำนวน 15 ชนิด ใน 13 สกุล Cyanophycea จำนวน 11 ชนิด ใน 9 สกุล Dictyochophycea จำนวน 7 ชนิด ใน 6 สกุล และ Dinphycea จำนวน 5 ชนิด ใน 3 สกุล และพบแพลงก์-ตอนสัตว์ รวมทั้งสิ้น 28 ชนิด 21 สกุล จาก 3 ไฟลัม ได้แก่ ไฟลัม Protozoa จำนวน 8 ชนิด 5 สกุล Arthopoda 11 ชนิด 9 สกุล และ Rotifer จำนวน 9 ชนิด 7 สกุล
สัตว์พื้นทะเล
พบจำนวน 4 ไฟลัม รวมจำนวน 36 ชนิด 29 สกุล ได้แก่ ไฟลัม Polychaeta จำนวน 22 ชนิด 18 สกุล Arthropoda จำนวน 11 ชนิด 9 สกุล และ Mollusca จำนวน 3 ชนิด 2 สกุล
ปะการัง
พบแนวปะการังได้บริเวณเกาะขี้ปลา มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ส่วนใหญ่อยูในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง และบริเวณหินดั้งบก อ่าวมะขามป้อม ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 94 ไร่ เนื่องจากเป็นแนวปะการังที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแม่น้ำ จึงมีความหลากหลายของปะการังน้อย และมีเฉพาะที่มีความทนทานต่อตะกอนและการเปลี่ยนแปลงความเค็มสูง โดยพบปะการังจำนวน 7 ชนิด ใน 7 สกุล ปะการังที่พบส่วนใหญ่เป็นปะการังรูปแบบก้อน ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) และปะการังหนวดดอกไม้ทะเล (Goniopora spp.) ส่วนปะการังรูปแบบกิ่งมีปริมาณน้อย ได้แก่ ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora damicornis)
ประชาคมปลาและทรัพยากรประมง
ทรัพยากรประมงในบริเวณแม่น้ำประแส พบสัตว์น้ำจำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปลาจำนวน 70 ชนิด ใน 50 สกุล กลุ่มกุ้งจำนวน 11 ชนิด ใน 5 สกุล กลุ่มปูจำนวน 6 ชนิด ใน 5 สกุล กลุ่มกั้ง 1 ชนิด กลุ่มหมึก 1 ชนิด และกลุ่มแมงดาทะเล 1 ชนิด เครื่องมือประมงหลักที่พบในพื้นที่ คือ อวนจมปู ลอบปูม้าขนาดเล็ก และลอบปลา โดยที่ปูม้าเป็นทรัพยากรสำคัญของชุมชนประมงชายฝั่งในพื้นที่ โดยทั่วไปมักพบปูม้าขนาดเล็กบริเวณป่าชายเลน และตลอดแนวชายฝั่งทะเล ปูม้าขนาดกลางพบบริเวณห่างชายฝั่งประมาณ 500 เมตรขึ้นไป และปูม้าขนาดใหญ่มักพบบริเวณพื้นที่นอกฝั่ง เช่นบริเวณใกล้กับเกาะมันใน เกาะมันนอก ถึงบริเวณเกาะทะลุ โดยมีการทำประมง ปูม้าตลอดทั้งปี ซึ่งโดยปกติมักทำการประมงบริเวณ 500 เมตร จากชายฝั่งออกไป โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งมีปูม้าชุกชุมที่สุดและยังเป็นช่วงที่พบปูไข่มากที่สุด สำหรับในช่วงเดือนเมษายนมักพบปูม้าน้อยที่สุด
ภาพที่ 3. ทรัพยากรประมงที่พบบริเวณชายฝั่งทะเล (ซ้าย) และในแม่น้ำประแส (ขวา)
ที่มาภาพ: https://km.dmcr.go.th/wp-content/uploads/2013/08/Biodiversity1.png
สัตว์ทะเลหายาก
สัตว์ทะเลหายาก บริเวณปากแม่น้ำประแส พบเต่าตนุ เต่ากระ โลมาปากขวด โลมาหลังโหนกและ พะยูน จากการสัมภาษณ์ชาวประมงในพื้นที่ มักพบโลมาและเต่าได้บ่อยที่สุด
ภาวะคุกคามและการจัดการ
ผลการติดตามคุณภาพน้ำในพื้นที่สุ่มน้ำในช่วงเวลาที่ผ่าน แสดงให้เห็นว่าโดยทั่วไปคุณภาพน้ำมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำทะเลประเภทที่ 1 และมาตรฐานแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 2 ทั้งนี้ยกเว้นบริเวณด้านในแม่น้ำ ซึ่งมักพบว่ามีปริมาณออกซิเจนละลายต่ำกว่ามาตรฐาน ค่าความสกปรกในรูปบีโอดีสูงเกินมาตรฐาน และปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดมีค่าเกินมาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบว่า ด้านในปากแม่น้ำและบริเวณปากแม่น้ำบางสถานีมักพบว่ามีค่าสารอาหารบางตัวสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน เช่น ฟอสเฟต แอมโมเนีย และไนเตรท ซึ่งบ่งชี้ว่าลุ่มน้ำแห่งนี้ยังคงมีปัญหาด้านการปล่อยน้ำทิ้งน้ำเสียจากแหล่งต้นน้ำ และกลางน้ำ ซึ่งมีทั้งน้ำทิ้งจากครัวเรือน/ชุมชน น้ำทิ้งจากแหล่งน้ำโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท และน้ำที่ชะล้างผ่านพื้นที่เกษตรกรรมต่างๆ
ปัญหาคุณภาพน้ำมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อความสมบูรณ์ของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพของลุ่มน้ำประแส จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้การบริหารจัดการอย่างบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ปัจจุบันชุมชนในลุ่มน้ำได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน จึงได้มีการริเริ่มโครงการบำบัดคุณภาพน้ำด้วยจุลินทรีย์โดยชุมชนลุ่มน้ำประแส โดยจัดกิจกรรมและสร้างจิตสำนึกภายในชุมชนให้เกิดความหวงแหนและช่วยกันสอดส่องดูแลรักษา แม่น้ำประแสให้มีคุณภาพน้ำดี จัดหางบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อการดูแลรักษา และปลูกจิตสำนึกไม่ให้ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำโดยร่วมมือกันใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์บำบัดน้ำในครัวเรือน นอกจากนี้ในด้านของการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ยังมีการจัดตั้งและการพัฒนาของกลุ่มหรือองค์กรชุมชนเพื่อทำหน้าที่ในการจัดการป่าชายเลนในชุมชนนำร่อง ซึ่งได้ริเริ่มโดยชุมชน และอาศัยศักยภาพของผู้นำกลุ่มอนุรักษ์หรือชุมชนในพื้นที่เป็นแกนหลักสำคัญในการจัดการ ป่าชายเลน มีการทำธนาคารปูม้า โดยก่อตั้งกลุ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยชุมชนตำบลเนินฆ้อ เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ปูไข่นอกกระดอง และกำหนดข้อห้ามการทำประมงปูม้าขนาดเล็กโดยใช้ตาอวน (อวนจมปู และลอบปู) ขนาดตา 3 นิ้วขึ้นไป ซึ่งชุมชนพบว่าช่วยให้มีผลผลิตทางการประมงเพิ่มขึ้นจากเดิม และยังมีการทำธนาคารปูแสม (ก่อตั้งกลุ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2547) เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการปูแสมของชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการห้ามทำการประมงปูแสมผิดแบบวิธี ไม่จับปูแสมขนาดเล็กและปูแสมมีไข่มาใช้ประโยชน์ ปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนรวมทั้งเยาวชนไม่กินและจับปูแสมมีไข่นอกกระดอง จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ดูแล และสำรวจทรัพยากรปูแสมในพื้นที่ รวมทั้งการปลูกป่าชายเลนเสริมมากขึ้นเพื่อพัฒนาและสร้างแหล่งอาหารลูกปูแสมให้มากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
https://km.dmcr.go.th/c_218/s_220/d_2541#.Um99fnBHKg8