วงการอนุรักษ์ทางทะเลเฮ

เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ที่จังหวัดพังงา

          เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งของวงการอนุรักษ์ทางทะเลของประเทศไทยที่มีแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกที่ชายหาดเขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ที่ด้านหน้าโรงแรมเขาหลัก  จังหวัดพังงาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ครั้งที่ 2 ที่ชายหาดใกล้วัดท่าไทร ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงาเมื่อวันที่วันที่ 26 ธ.ค.2561 และครั้งที่ 3 ที่ชายหาดคึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา อยู่ห่างจากรังไข่แรกเพียงไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นแม่ตัวเดียวกันกับที่ขึ้นวางไข่ครั้งแรก

เต่ามะเฟือง (leatherback sea turtle) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dermochelys coriacea เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งเต่าทะเลที่พบในประเทศไทยมี 5 ชนิดคือเต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่าหัวค้อน เต่ากระและเต่าหญ้า

ภาพเต่ามะเฟือง(leatherback sea turtle)

ที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/fc/Leatherback_sea_turtle_Tinglar%2C_USVI_%285839996547%29.jpg

ที่ได้ชื่อว่าเต่ามะเฟืองอาจเป็นเพราะสันบนกระดองมีลักษณะคล้ายกับกลีบของผลมะเฟืองตามจินตนาการของคนไทยส่วนชื่อภาษาอังกฤษแปลตรงตัวได้ว่าเต่าทะเลหลังหนังเพราะด้านหลังของตัวเต่าเป็นหนังแทนที่จะเป็นเกล็ดเหมือนเต่าทะเลทั่วไป

เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่อันดับ 4 ที่ยังสามารถดำรงเผ่าพันธุ์จากยุคดึกดำบรรพ์มาได้จนถึงปัจจุบัน

เต่ามะเฟืองมีขนาดโตเต็มที่ยาว 210 เซนติเมตร หนัก 900 กิโลกรัม กระดองเป็นหนังหนาสีดำมีจุดประสีขาว มีร่องสันนูนตามยาว 7 สัน อาศัยอยู่ในทะเลเปิดกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก ในประเทศไทยพบวางไข่เฉพาะบริเวณชายหาดฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและภูเก็ต

แม่เต่ามะเฟืองจะขึ้นวางไข่ที่ชายหาดเหนือแนวน้ำทะเลขึ้นสูงสุดซึ่งไข่เต่าจะมีลักษณะเป็นทรงกลมต่างจากไข่เบ็ดและไข่ไก่ทั่วไป โดยในแต่ละครั้งจะวางไข่ประมาณ 60 – 100 ฟอง โดยไข่เต่าจะใช้เวลาฟักประมาณ 55 – 60 วัน ระหว่างนี้อุณหภูมิในหลุมไข่จะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการกำหนดเพศของลูกเต่า โดยทั่วไปสัดส่วนของลูกเต่าเพศเมียจะมีมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิในหลุมฟักไข่สูงขึ้น

ภาพแม่เต่ามะเฟืองขณะขึ้นวางไข่

ที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/80/Ponteluth.jpg/800px-Ponteluth.jpg

ลูกเต่าที่ฟักออกเป็นตัว จะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1-2 วัน เพื่อรอให้ไข่ฟองที่เหลือฟักตัวออกมา จากนั้นจึงอาศัยในช่วงเวลากลางคืนเพื่อคลานออกมาจากหลุมพร้อมๆ กัน ก่อนมุ่งหน้าลงสู่ทะเล ลูกเต่าแรกเกิดยังคงมีถุงไข่แดงจำนวนหนึ่งอยู่บริเวณท้องเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานในการว่ายน้ำออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่องเพื่อหลบหนีศัตรูตามธรรมชาติบริเวณชายฝั่งมุ่งออกทะเลลึก เต่ามะเฟืองซึ่งใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตหากินในบริเวณทะเลลึกไกลจากฝั่ง เต่ามะเฟืองจะเข้ามาชายฝั่งเฉพาะช่วงการผสมพันธุ์และวางไข่

ในอดีตประเทศไทยมีประชากรเต่าทะเลเป็นจำนวนมาก เต่าทะเลวางไข่ตลอดแนวชายหาดของประเทศ แต่มีการใช้ประโยชน์จากเต่าทะเลในหลายๆ ด้าน เช่น ใช้เนื้อและไข่เป็นอาหาร กระดองนำไปเป็นเครื่องประดับและเครื่องตบแต่ง และมีการเปิดประมูลเก็บฟองไข่เต่าทะเลเพื่อการค้า แต่อัตรารอดของลูกเต่าทะเลในธรรมชาติน้อยมาก เต่าทะเลจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาจากการติดเครื่องมือประมง เช่น อวนลาก ซึ่งเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้จำนวนรังไข่เต่าทะเลลดลงเป็นอย่างมาก ประกอบกับชายหาดซึ่งเคยเป็นแหล่งวางไข่เต่าทะเลถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการก่อสร้างโรงแรม บ้านเรือนริมชายฝั่ง และยังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของชายหาด ทำให้สูญเสียศักยภาพการเป็นแหล่งวางไข่เต่าทะเล และส่งผลให้จำนวนรังไข่เต่าทะเลลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเหลือพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟืองมาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยปีละไม่ถึง 10 ตัว โดยสถิติการวางไข่เต่ามะเฟืองลดลงจาก 250-300 รังเหลือเพียง 10-20 รัง ลดลงมากกว่า 95% ในช่วงเวลา 50 ปี โดยมีแหล่งวางไข่ที่สำคัญบริเวณชายหาดของแผ่นดินใหญ่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยได้แก่จังหวัดพังงาและภูเก็ต

ภาพพื้นที่การขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟืองของประเทศไทย

ที่มาภาพ: https://km.dmcr.go.th/ckeditor/upload/files/Leatherback%20turtle/02.png

แนวทางในการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง

  1. ปัจจุบันได้มีการผลักดันเต่าทะเลให้เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 18 เพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้สังคมได้รับรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  2. การควบคุมการทำการประมงให้ห่างจากพื้นที่การวางไข่ของเต่าทะเลในระยะ 3 ไมล์ทะเล
  3. การควบคุมกิจกรรมในทะเลที่รบกวนการวางไข่ของเต่ามะเฟือง เช่นปิดแหล่งท่องเที่ยวช่วงฤดู วางไข่ หรือจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีปริมาณที่เหมาะสม; ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว
  4. เพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง และจัดการรังไข่เต่า
  5. ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และส่งเสริมการศึกษาวิจัยและการเก็บรวบรวมข้อมูลของเต่ามะเฟือง

บรรณานุกรม

– https://th.wikipedia.org/wiki/เต่ามะเฟือง

– https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2011031

– https://www.thairath.co.th/content/1455310

– https://km.dmcr.go.th/th/c_258/d_19105